จีเอ็ม ประเทศไทย ปรับองค์กรเน้นจุดแข็งกระบะ-SUV,ลดพนง.ไม่เกี่ยวศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2015 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจีรณัฐ แสงดี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ จีเอ็ม ประเทศไทย และเชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า แผนการปรับโครงสร้างองค์กรของจีเอ็มในประเทศไทยที่ได้ประกาศแล้วนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและขีดความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งเน้นจุดแข็งของจีเอ็ม ในกลุ่มรถกระบะ และรถเอสยูวี ขณะที่ในส่วนของรถยนต์นั่งนั้น ยังคงมีการผลิตเชฟโรเลต ครูซ แต่ได้ปิดสายการผลิตรถยนต์นั่งเชฟโรเลต โซนิค

ส่วนการปรับลดพนักงานตามโครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจ (Voluntary Separation Program) ที่รวมอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น เป็นการปรับตัวของกลุ่มจีเอ็มโดยไม่ได้มองถึงภาวะเศรษฐกิจในไทย พร้อมปฏิเสธการลดพนักงาน ลง 30% ตามที่มีกระแสข่าวออกมา

"แผนการปรับโครงสร้างองค์กร เป็น pure business position เราไม่ได้มองว่าตลาดเป็นอย่างไร เราตัดสินใจบนธุรกิจของเราล้วนๆ มองที่ความยั่งยืนเป็นสำคัญ จุดแข็งของเราอยู่ที่รถกระบะ และรถเอสยูวี...ตามแผนวางไว้ว่าองค์กรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น 30% ไม่เกี่ยวกับจำนวนพนักงาน แต่เกี่ยวข้องกับ total efficiency ขององค์กร"นางสาวจีรณัฐ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. เจนเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศแผนกลยุทธ์การพลิกโฉมธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมทั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ และศูนย์การผลิตฯในจ.ระยอง โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะขับเคลื่อนให้แบรนด์เชฟโรเลตเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปรับโครงสร้างที่จีเอ็มเตรียมดำเนินการทั่วทั้งภูมิภาค

ภายใต้แผนดังกล่าวจีเอ็มจะปรับเปลี่ยนกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อทิศทางของตลาดและความต้องการของลูกค้า โดยยังคงทำการผลิตและจำหน่ายรถกระบะ เชฟโรเลต โคโลราโด เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ และรถเอสยูวี เชฟโรเลต แคปติวา รวมถึงรถยนต์นั่ง เชฟโรเลต ครูซ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 75% ของเชฟโรเลตในประเทศไทยและคิดเป็นสัดส่วนราว 95% ที่จีเอ็ม ประเทศไทยส่งออกสู่ต่างประเทศ ในส่วนของรถยนต์นั่งเชฟโรเลต โซนิคและรถอเนกประสงค์เอ็มพีวี เชฟโรเลต สปินจะหยุดจัดจำหน่ายเมื่อสิ้นสุดแผนการตลาดของรุ่นปีล่าสุด รวมถึงจีเอ็ม ประเทศไทยได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วว่าจะถอนตัวจากการเข้าร่วมโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์) ระยะที่ 2

นางสาวจีรณัฐ กล่าวว่า ตามแผนดังกล่าวจะมีโครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจด้วย โดยได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยไม่มีกำหนดเวลาชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากต้องการให้พนักงานมีเวลาตัดสินใจ ซึ่งจีเอ็มไม่ได้กำหนดเป้าหมายจำนวนพนักงานที่จะลดลงตามแผน แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงานเป็นสำคัญ โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่พึงพอใจสำหรับพนักงานในปัจจุบันที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ ทั้งพนักงานในส่วนสำนักงานและระดับปฏิบัติการ

ปัจจุบัน จีเอ็ม ในไทยมีพนักงานราว 3,000 คน ใน 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์การผลิตรถยนต์ ที่มีจำนวนพนักงานมากสุดกว่า 2,000 คน ,ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ มีพนักงานกว่า 500 คน ส่วนที่เหลือเป็นพนักงานในส่วนของสำนักงานขาย ขณะที่มีโรงงาน 2 แห่งในจ.ระยอง ได้แก่ โรงงานผลิตเครื่องยนต์ และโรงงานประกอบรถยนต์ และมีส่วนแบ่งตลาดในไทยราว 3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ