สนพ.คาดกองทุนอนุรักษ์จะพิจารณาวงเงินอุดหนุนโซลาร์ฟาร์มกองทัพในพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2015 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เตรียมพิจารณาให้การสนับสนุนวงเงินแก่หน่วยงานที่นำเสนอโครงการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเข้ามา รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมที่ยื่นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาหลายโครงการด้วย คาดว่าจะมีการพิจารณาภายในเดือนพ.ค.นี้
"โครงการเหล่านี้เราไม่ได้ประกาศเป็นการทั่วไป แต่ให้มีการเสนอผ่านเข้ามายังสนพ.และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯซึ่งเราก็กำลังจะนำเข้าพิจารณาและจะประกาศได้หลังการประชุมของคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งคาดว่าคงจะภายในเดือนพฤษภาคมนี้"นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่หน่วยงานในสังกัดกลาโหมที่เสนอมาเมื่อเร็วๆนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร(โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) จำนวน 800 เมกะวัตต์ ที่ภาครัฐกำลังจะออกประกาศรับซื้อในเร็ววันนี้ แต่เป็นในส่วนของการให้วงเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในแต่ละโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ หรือการประหยัดพลังงาน

ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพต่างๆ รวมถึง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้ยื่นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนวงเงินดังกล่าวมาเป็นจำนวนระดับหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะนำมาพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาต่อไป ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ได้อนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุนส่งเสริมโครงการต่างๆประมาณปีละ 7 พันล้านบาท ตามแผนงาน 5 ปี ซึ่งหากปีใดใช้ไม่หมดก็จะสมทบมาใช้ในปีถัดๆไป โดยที่ผ่านมาไม่มีได้มีการส่งเสริมเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น แต่ก็ได้มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆด้วย เช่น โรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น

"เราให้เป็นเงินให้เปล่า เป็นการขอติดตั้งใช้เองในแต่ละหน่วยงาน เพื่อการประหยัดไฟฟ้า"นายชวลิต กล่าว

อนึ่ง รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการกิจการพลังงานทดแทนของกองทัพบกได้อนุมัติข้อเสนอของเอกชน 17 ราย ล็อตที่ 2 ให้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิตไม่เกินรายละ 5 เมกะวัตต์ในพื้นที่ราชพัสดุของกองทัพ รวมกำลังการผลิต 106 เมกะวัตต์ หลังจากกองทัพบกอนุมัติให้เอกชนดำเนินโครงการ 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 310 เมกะวัตต์ไปแล้วในล็อตแรก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ