(เพิ่มเติม) "หม่อมอุ๋ย"คาดส่งออก Q1/58 ติดลบราว 4% ทั้งปีโต 0-1%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 8, 2015 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้แศรษฐกิจโลก" ว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมขณะนี้ยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ทั้งยุโรป สหรัฐญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ทำให้ส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก โดยเฉพาะกระทบต่อการส่งออกของไทย เห็นได้จากการส่งออกเดือนแรกของปีนี้ติดลบ 3.7% เดือนก.พ. ติดลบ 6.1% และเดือนมี.ค.ก็น่าจะออกมาติดลบ ซึ่งคาดว่าไตรมาสแรกการส่งออกน่าจะมีตัวเลขติดลบราว 4% และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ไตรมาสแรกมีโอกาสจะเติบโตได้มากกว่าไตรมาส 4/57 ที่เติบโตได้ 2.3%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงไตรมาส 1/58 มีมูลค่าสูงขึ้นถึง 9.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 51% มองว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะเข้ามาชดเชยรายได้จากการส่งออกที่ลดลงไปได้ ดังนั้นจึงประเมินการส่งออกทั้งปีน่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 0-1%

"เศรษฐกิจที่ชะลอตัว เพราะเรายังโดนกระทบจากเรื่องของการส่งออก แต่ถือว่าเราก็ยังโชคดีจากการใช้จ่าย VAT ที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนภาครัฐที่น่าจะดีขึ้น มองว่าจากนี้การส่งออกก็คงไม่น่าจะลดลงไปอีกแล้ว และน่าจะมีการเติบโตในอัตรา 0-1% ที่น่าจะเป็นไปได้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ไป ไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้ จากการดำเนินการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ ที่จะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการวางแผนกระตุ้นการส่งออก ที่น่าจะส่งผลให้ส่งออกของไทยสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในระยะ 2-3 ปีนับจากนี้ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนประเภทอุตสาหกรรม ผ่าน BOI หันมาส่งเสริมสินค้ารุ่นใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง เช่น การผลิตยางรถยนต์, Advance Material,ไฮเทค ออโต้พาร์ท,ผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบิน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และ โซลาร์เซลล์ เป็นต้น

นอกจากนี้รัฐบาลได้ดำเนินการยกเลิกการเก็บภาษีรายได้จากการนำเงินลงทุนในต่างประเทศเข้าในประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทเอกชนไม่นำเงินออกไปฝากไว้ที่อื่น และยังสามารถทำให้ GDP ของไทยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก

พร้อมกันนี้ ยังมีในเรื่องของการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล ได้แก่ National Broadband ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกครัวเรือนในปี 60 ,DATA Center ,Gate way ,Digital Banking ,Government services ,E-commerce/Digital Entrepreneur ,Digital Content และ Distance Learing and Instruetional Technology (DLIT) โดยการส่งเสริมไทยให้ก้าวเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลนั้น คาดว่าน่าจะให้ระยะเวลาในการผลักดันไปอีก 1 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ