ผู้เลี้ยงกุ้งยื่น 4 ข้อเสนอ วอนนายกฯเร่งช่วยเหลือแก้ไขวิกฤติปัญหา-ราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 13:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นายมานิตย์ จิตรชุ่ม นายกสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย ร่วมยืนหนังสือร้องเรียนฯ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จีนทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด หลังประสบวิกฤติปัญหาการเลี้ยง/เลี้ยงกุ้งไม่ได้ และถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1) ขอให้มี โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมฯ ปี 2558 2) ให้เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3) ช่วยแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน อีเอ็มเอส (EMS) และ 4) ขอให้กุ้ง และผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่ได้รับการดูแลพิเศษจากภาครัฐ และให้บรรจุเรื่องกุ้งเป็นวาระแห่งชาติ

การมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง(ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เป็นรายย่อย) เดือดร้อนหนัก นอกจากเลี้ยงกุ้งกันไม่ได้ด้วย เจอวิกฤติปัญหาเรื่องโรคที่หนักหนาสาหัสตามที่ทราบกัน ซึ่งยังแก้ไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม/ชัดเจนแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยราคากุ้งที่ตกต่ำต่อเนื่อง จนผู้เลี้ยงทั่วประเทศจำเป็นต้องออกกันมาร้องท่านให้พิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วนก่อนที่จะตายกันหมด เพราะวิกฤติครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่ออุตฯกุ้งทั้งระบบตลอดสายห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ผู้ค้าปัจจัยการผลิตต่างๆ ฟาร์มกุ้ง โรงงานแปรรูปกุ้ง (ห้องเย็น) ผู้ส่งออก อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และส่วนเกี่ยวข้อง (คลัสเตอร์กุ้งทั้งหมดของประเทศ) แล้ว โดยเฉพาะกับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งนอกจากที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากโรคระบาดฯ ยังต้องเผชิญกับราคากุ้งตกต่ำ (ที่มีแนวโน้มจะตกต่ำลงไปอีก) ส่วนผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปกุ้ง ที่ไม่มีวัตถุดิบเพื่อผลิตแปรรูปเพียงพอ ต้องลดกำลังผลิต/ปิดโรงงาน ผู้ส่งออกไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ด้วยไม่มั่นใจว่าจะได้ของ เป็นต้น

จากปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนักที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ทุกภาคส่วน ได้แก่ สมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ค้าปัจจัยการผลิต สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ฯลฯ มีการประชุมหารือเพี่อหาแนวทางการแก้ปัญหาฯ ร่วมกัน ได้ข้อสรุป เพื่อนำเสนอ ฯพณฯ พิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด

นอกจากข้อเสนอข้างต้นที่จำเป็นเร่งด่วนแล้ว อยากให้มีผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ที่มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการต่างๆ มาเป็นผู้นำมากำกับดูแลบริหารจัดการเป็นการเฉพาะ เมื่อมีเรื่องสำคัญเร่งด่วน สามารถพิจารณาดำเนินการจัดการ/แก้ไขปัญหาได้ทันที ทันการณ์ และเกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ที่สำคัญอยากให้สินค้ากุ้งได้รับการดูแลพิเศษจากรัฐ รัฐเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง และช่วยปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างเต็มที่

"กุ้ง เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าส่งออกสำคัญ ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศกว่าร้อยละ 90 ในการผลิต ที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาลมาอย่างต่อเนื่อง เคยถึงปีละกว่าแสนล้านบาท สร้างงานอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนเกี่ยวข้องและครอบครัวจำนวนมาก" นายบรรจง กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า วิกฤติปัญหานี้ ทำให้ไทยสูญเสียความเป็นผู้นำการส่งออกกุ้งให้กับประเทศคู่แข่ง ที่สามารถผลิตกุ้งได้ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย ประเทศกลุ่มละตินอเมริกา และอื่นๆ แล้ว ทั้งที่ที่ผ่านมาสินค้ากุ้งของไทย ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย จากผู้บริโภคอย่างมาก ครองตลาดเป็นที่ 1 ในตลาดที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาโดยตลอด หากไม่ได้รับการแก้ไขเร่งด่วนทันการณ์ ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สูญเสียตลาด ที่ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยอาจถึงขั้นล่มสลายได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ