สศก.คาดแนวโน้มราคาปาล์มปรับตัวสูงขึ้นหลังผลผลิตลดลงช่วงกลางพ.ค.58

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2015 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพรนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พบว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่ ชุมพร และสุราษฎร์ธานีซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในที่ดอน และยังขาดการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ค่อยดี กอปรกับภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ส่งผลทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันเริ่มออกสู่ตลาดลดลงตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป และผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน และหากฝนยังตกอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดทั้งหมดในปี 2558 มีโอกาสเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับปาล์มที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี พบว่า ยังคงมีผลผลิตเฉลี่ย 4-6 ทะลายต่อต้น จากภาวะกระทบแล้งตั้งแต่ มกราคม – กุมภาพันธ์ และเมื่อได้ฝนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ทำให้ปาล์มเล็กมีการเร่งทะลายสุก (มีผลปาล์มสุกมากกว่า 3 ทะลายต่อรอบตัด) อย่างไรก็ตาม ปาล์มที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ผลปาล์มทะลายที่ได้นั้นยังเล็กอยู่ (น้ำหนักต่อทะลายน้อย) ทำให้ในภาพรวมผลผลิตในกระบี่และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทย ลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกับปาล์มน้ำมันในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกใหม่ ปาล์มส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 4-7 ปี และปลูกในที่ลุ่มหรือที่นาเดิม มักมีการยกร่องและมีน้ำล้อมรอบ ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันยังคงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงขนาดผลปาล์ม พบว่ามีขนาดเล็กและมีพื้นที่ปลูกไม่มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกในจังหวัดกระบี่ และสุราษฎร์ธานี และคาดว่าผลผลิตในเดือน มิถุนายน - สิงหาคม จะลดลงกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย

ดังนั้น โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเริ่มมีการเก็งกำไรและรับซื้อผลปาล์มน้ำมันเข้าผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาผลปาล์ม ณ หน้าโรงงานของภาคใต้ ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 4.10 - 4.40 บาท และจากการใช้มาตรการการซื้อขายผลปาล์มน้ำมันตามคุณภาพ (อัตราการสกัดน้ำมันมากกว่าร้อยละ 17) โดยกำหนดให้เกษตรกรตัดปาล์มสุก สด ไม่แยกลูกร่วง และไม่รดน้ำ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับราคาที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าราคาผลปาล์ม ณ หน้าโรงงาน จะเพิ่มขึ้นสูงกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ได้ภายในไม่ช้านี้ เนื่องจากทุกโรงสกัดทุกโรงจำเป็นต้องแย่งซื้อผลผลิตปาล์มคุณภาพ (อัตราการสกัดน้ำมันที่สูงกว่าร้อยละ 17) เข้ามาผลิตเพื่อลดต้นทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ