กสอ.เผยญี่ปุ่นจ่อตั้งสนง.ส่งเสริม SMEs ในไทยรองรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 8, 2015 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เดินทางไปเจรจาความร่วมมือทางเทคนิควิชาการด้านการส่งเสริม SMEs และ OTOP กับ Tokyo SME Support Center ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการSMEs ของมหานครโตเกียวโดยได้ลงนาม MOU กับนายยูจิ อิซาว่า ประธาน Tokyo SME Support Center

ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองการให้บริการกับ SMEs ทั้งของญี่ปุ่นและไทย รวมทั้งพัฒนารูปแบบการให้บริการด้านบริหารจัดการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ SMEs ให้มีขีดความสามารถรองรับการเปิดเสรี AEC

ทั้งนี้ งบประมาณปี 2558 (1 เม.ย. 58 –31 มี.ค.59) ของมหานครโตเกียว (ไม่รวมเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง เป็นเงินประมาณ 1.90 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณปี 2558 ของไทยเป็นเงิน 2.57 ล้านล้านบาท

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศญี่ปุ่นมีบทบาทหลักต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน กสอ.จึงได้ให้ความสำคัญและร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ยังคงบทบาทด้านการค้า การลงทุน และการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยต่อไป รวมทั้งเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของญี่ปุ่นทั้งจากรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น โดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นที่แต่ละท้องถิ่นจะมีจุดเด่นของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ลงนาม MOU ความร่วมมือทางเทคนิควิชาการกับหน่วยงานต่างๆ ไปแล้วทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน ได้แก่ 1. จังหวัดไซตามะ 2. จังหวัดยามานะชิ 3. จังหวัดอะคิตะ 4. จังหวัดโทโทริ 5. จังหวัดชิมาเน่ 6. SMEs Support Center (หน่วยงานของรัฐบาลกลาง) 7. จังหวัดไอจิ 8. เมืองคาวาซากิ 9. จังหวัดฟุกุอิ 10. หน่วยงาน Tokyo Metropolitan Industrial Technology Research Institute (หน่วยงานท้องถิ่นของมหานครโตเกียว) 11. จังหวัดโทยาม่า 12. เมืองมินะมิโบโซ 13. จังหวัดฟูกุโอกะ และ 14.Tokyo SMEs Support Center (หน่วยงานท้องถิ่นของมหานครโตเกียว เพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558)

ทั้งนี้ ในปี 2563 (ค.ศ. 2020) มหานครโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิคอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการในการเตรียมการต่างๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างสนามแข่งขัน ที่พักนักกีฬา รวมทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ เชื่อว่าจะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งอานิสงส์แก่ SMEs ของมหานครโตเกียวซึ่งมีจำนวนกว่า 400,000 ราย และส่งผลดีต่อประเทศที่เป็นคู่ค้าของญี่ปุ่นรวมทั้งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ