ธปท.แนะ 4 แนวทางพัฒนาภาคท่องเที่ยวให้เป็นตัวขับเคลื่อนศก.ไทยยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2015 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนองานวิจัย เรื่อง"ทำอย่างไรให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน?" โดยน.ส.รัตติยากร ลิมัณตชัย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2012 ภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยลบมากมายจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย และภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น โดยในปี 2013 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 11 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สร้างการจ้างงานโดยตรงในกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ 15 ของแรงงานทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านอุปทานการท่องเที่ยวของไทยด้อยลงในทุกด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวของไทยในระยะต่อไป ที่อาจเติบโตได้ไม่มากเหมือนในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของคำถามสำคัญว่า ทำอย่างไรให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน โดยบทความนี้จะแสดง 1) ช่องว่างในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของไทยทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน 2) แนวทางการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของไทยเพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

เริ่มจากมุมมองฝั่งอุปสงค์ของภาคการท่องเที่ยวไทยพบว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งส่งผลให้โอกาสในการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อวัน หรือจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวทำได้ยาก รวมทั้ง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวหลักเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ คุณภาพนักท่องเที่ยวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ โดยนักท่องเที่ยวใช้จ่ายในไทยประมาณ 160 ดอลลาร์ สรอ./คน/วัน ขณะที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศคู่แข่งอยู่ที่ประมาณ 260 ดอลลาร์ สรอ./คน/วัน

มองฝั่งอุปทานพบว่าแม้ไทยจะได้เปรียบด้านแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกินขีดความสามารถในการรองรับ ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านนิเวศวิทยา ด้านจิตวิทยา และด้านกายภาพ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะเสม็ด เป็นต้น นอกเหนือจากผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและ

สิ่งแวดล้อมแล้ว ในแง่ต้นทุนที่เป็นตัวเงินก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยปี 2013 ไทยมีปริมาณขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวถึง 1.2 ล้านตัน ซึ่งมีต้นทุนในการกำจัดประมาณ 1,700 บาท/ตัน

หากเราต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไทยจำเป็นต้องพัฒนาภาคการท่องเที่ยวทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งมีแนวทางหลักๆ ดังนี้ 1) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านคมนาคมและขนส่ง เพื่อลดการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวที่อยู่เพียงเฉพาะในบางจังหวัด และเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตัวเลขความหนาแน่นทางถนน (road density) และการเชื่อมโยง (ground network) ของไทยยังคงด้อยกว่าประเทศคู่แข่ง ขณะที่อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ก็มีจำนวนผู้โดยสารแออัดมากขึ้นเรื่อยๆ แตกต่างจากประเทศคู่แข่ง เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของรันเวย์ในการรองรับเที่ยวบินเอง ก็ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่นเช่นกัน

2) คัดกรองคุณภาพนักท่องเที่ยวซึ่งอาจพิจารณาใช้เครื่องมือด้านราคา ดังเช่นในประเทศสเปนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับสามของโลก ใช้การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (eco-tax) โดยชาร์จเพิ่มเข้าไปในราคาสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยว อาทิ ราคาห้องพักและค่าบริการกิจกรรมดำน้ำ เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งรายได้ในการรองรับต้นทุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

3)สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวไทย ทั้งในแง่ของกิจกรรมหลัก (core product) อาทิ การจับจ่ายซื้อสินค้า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกิจกรรมเสริมที่มีศักยภาพ (high potential complementary) เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การแต่งงาน/ฮันนีมูน และการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนค่าใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยว และกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาคุณภาพห้องพักซึ่งเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยว High End ของไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการบางส่วนยังคงเน้นการใช้กลยุทธ์แข่งขันด้านราคามากกว่าการพัฒนาคุณภาพ

4) การจัดการและดูแลรักษาสภาพแวดล้อม อาทิ การลงทุนในรถเก็บขนขยะและระบบเทคโนโลยีการกำจัดขยะ รวมทั้งใช้เครื่องมือด้านการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวต่อวัน (quota) โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาทั้งหมดข้างต้นจะสำเร็จลุล่วงไปได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ