(เพิ่มเติม) รมช.คมนาคม รับแก้ปัญหาไม่ผ่าน ICAO,เร่งปลดล็อคก่อนเชิญมาตรวจพ.ย.-ธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 19, 2015 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่ไทยถูกขึ้นสัญลักษณ์ธงแดงบนเว็บไซด์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ต่อสาธารณะเมื่อวานนี้ เนื่องจากไทยยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกร่องที่มีนัยสำคัญ(SSC)ภายในกำหนดของ ICAO

อย่างไรก็ดี ICAO ยังไม่ได้มีมาตการเพิ่มเติมใดๆ ต่อกรมการบินพลเรือนของไทย ขณะที่ไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหา SSC ตามแนวทาง 3 ระยะ คือ ระยะสั้นจะดำเนินแก้ไขตามแผนการแก้ไข(CAP:Collective. Action Plan) ที่จะเข้าตรวจสอบใบรับรองการบิน (AOC) ของทั้ง 28 สายการบินที่มีเส้นทางบินระหว่างประเทศและจำนวนที่นั่งสูง รวมทั้งสายการบินที่ทำการขนส่งสินค้าในช่วงวันที่ 11 ก.ค.-ต.ค.58 จากนั้นจะเชิญICAO เข้ามาตรวจสอบใหม่ (Re-Audit) ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้

นายอาคม กล่าวว่า เบื้องต้นคงต้องรวบรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่จากที่ผ่านมาคงมีเพียงแต่จะไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินและเพิ่มจุดบินสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ หรือให้บริการแบบเช่าเหมาลำในบางประเทศ ขณะเดียวกัน กรมการบินพลเรือนของสหรัฐ (FAA)จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยในวันที่ 13-17 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ กรมการบินพลเรือน (บพ.)จะทำหนังสือเชิญทาง ICAO. ในวันที่ 9 ก.ย.58เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยอีกครั้งซึ่งเป็นไปตามตารางเวลา ซึ่งทาง ICAO ก็จะพิจารณาสิ่งที่ไทยแก้ไขไปแล้ว และถ้า ICAO พร้อมจะมาตรวจ ไม่จำเป็นต้องมาตรงวันที่เชิญไป โดยไทยต้องตรวจสอบสายการบินทั้ง 28 แห่งให้ครบก่อน

"เรากำหนดเป้าหมายไม่ได้(ถอนธงแดง) คนที่กำหนดคือ ICAO. อาจารย์เขาตรวจข้อสอบเสร็จเมื่อไหร่เขาก็จะบอกเรา ... ไม่ใช่เราแก้ไม่ทัน ช่วง 90 วันเขาให้ทำแผน ไม่มีประเทศไหนทำได้เสร็จภายใน 90 วัน เราไม่ได้สอบตก แต่อยู่ระหว่างการสอบ"นายอาคม กล่าว

นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนระยะกลางจะมีการปรับโครงสร้าง บพ.โดยวันที่ 22 มิ.ย.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเดินอากาศฉบับใหม่ครั้งแรก และเตรียมเสนอครม.อนุมัติ หลังจากนั้นส่งให้นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี ต่อไป โดยจะใช้มาตรา 44 ดำเนินการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมกำลังวางแผนกำลังคนและการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นการควบคุมคุณภาพสายการบิน ส่วนแผนระยะยาวจะมีการวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมการบิน

นายอาคม กล่าวอีกว่า จากการหารือ ICAO ประธาน ICAO ก็ได้แจ้งว่า แผนแก้ไขปัญหาของไทยมีความเหมาะสมและมีรายละเอียดที่ช้ดเจนทั้งในเรื่องหน่วยงานกรมการบินพลเรือนและตารางเวลา ที่สำคัญที่ไทยได้รายงานความก้าวหน้าของการแก้ไขข้อบกพร่องตามแผนอย่างต่อเนื่องผ่านระบบออนไลน์ของICAO ซึ่ง ICAO และสมาชิกทั้งหมดก็รับทราบ แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งทาง ICAO. ก็เชื่อมั่นว่าทางไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาลุล่วงด้วยดี โดย ICAO ก็พร้อมให้การช่วยเหลือทุกด้าน โดยเฉพาะด้านวิชาการและบุคคลากรในการให้คำแนะนำแก่ไทย

ส่วนการแสดงสถานะธงแดงบนเว็บไซด์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.นั้นเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติตามเอกสาร Doc 9735 ไม่ใช่เป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสาธาราณะและไม่มีมาตรการใดๆ เพิ่มเติมที่เหี่ยวข้องกับการทำการบินในประเทศไทย ในขณะเดียวข้อมูลสถานะของประเทศไทยเป็นข้อมูลเดิมที่ประเทศภาคีของ ICAO. และสาธารณะได้รับทราบอยู่แล้ว

ดังนั้น ทาง ICAO ขอให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ไขตามแผนการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องที่ได้ปฏิบัติมาใช่วง 90 วันที่ผ่านมา ซึ่งก็จะทำให้ประเทศอื่นเห็นถึงความจริงจังและความต่อเนื่องในการแก้ไขของประเทศไทยและส่งผลบวกต่อประเทศไทยแม้ว่าจะมีขึ้นสถานะในเว็บไซด์ต่อสาธารณะหรือธงแดงก็ตาม

นอกจากนั้น ทาง ICAO ได้ให้คำแนะนำการดำเนินงานขั้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการว่าจ้างที่ปรึกษาได้อัตรากำลัง 48 คนการตรวจสอบใหม่และการออกใบอนุญาตใหม่ให้กับสายการบิน

ขณะที่การหารือกับตัวแทนด้านมาตรฐานการบินของสหรัฐ(FAA)นั้น นายอาคม กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้ยืนยันถึงการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการขนส่งทางอากาศ และ FAA ก็ได้รับทราบความคืบหน้าในการแก้ไขข้อบกพร่อง (SSC)ของไทยมาตลอดและหวังว่าไทยจะสามารถแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปได้

ทาง FAA ก็เห็นว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว และระบุว่าการที่ไทยมีข้อบกพร่อง(SSC)จากผลการตรวจสอบของICAO ตามโครงการ USOAP นั้นไม่มีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจของ FAA ว่าไทยอยู่ในระดับ Categoryใด โดยจะพิจารณาจากผลการตรวจสอบตามโครงการ IASA ของ FAA เท่านั้น

"ทั้ง ICAO และ FAA ได้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปหารือด้วยตัวเองแสดงถึง commitment ของรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งเขาก็ไม่เคยเห็นว่าประเทศใดๆที่ติดเรื่อง SSC จะส่งผู้แทนในระดับรัฐมนตรีไปหารือกับเขา หลายประเทศเมื่อได้รับสถานะ SSC ก็เฉยๆ" นายอาคม กล่าว

ด้าน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า การตรวจสอบของ ICAO จัดทีมเข้ามาตั้งแต่เดือน ม.ค.ตรวจสอบพบข้อที่ต้องแก้ไข 850 ข้อ อยู่ใน8 กลุ่มงาน เช่นเรื่องโครงสร้าง การตรวจความปลอดภัย ส่งผลให้ ICAO ประเมินไทยไม่ผ่านเกณฑ์ จนผลส่งกระทบต่อกรมการบินพลเรือน และสายการบินของไทย และพบว่าประเด็นสำคัญ มี 2 ประเด็นคือการอนุญาตให้ขนส่งสินค้าอันตราย. และการออกใบอนุญาต ซึ่ง 2 เรื่องได้ส่งผลกระทบต่อสายการบินจำนวนไม่น้อยกว่า 20 สายการบิน ที่มีเที่ยวบินต่างประเทศ และ 13 สายการบินที่บินภายในประเทศ

กระทรวงคมนาคมร่วมกับ บพ.จึงได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาและได้ส่งให้ ICAO เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา และส่งให้กับ ครม. รับทราบเมื่อ 3 มี.ค.เวลาต่อมา ICAO แจ้งว่าแผนงานของไทยยังไม่ผ่านการรับรอง ขณะที่ไทยก็ดำเนินการแก้ไขปับหามาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างเดียวกันสายการบินของไทยก็ได้ร้องเรียนได้รับผลกระทบ และทางการไทยได้เข้าเจรจากับญี่ปุ่น เกาหลี จีน เยอรมันและกำลังเดินทางไปออสเตรเลีย ซึ่งทั้งหมดเห็นว่าสายการบินของไทยที่บินเข้าไปเป็นสายการบินที่ปลอดภัย และน่าเชือถือ

ส่วนกรณีที่ ICAO เข้าตรวจสอบก็จะติดตามผล ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (ENSA.) แจ้งทีมงานบพ.ให้ชี้แจงเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งพอใจผลการชี้แจง และในวันที่ 25 มิ.ย.นี้เชื่อว่าจะแจ้งว่าจะมีแนวทางการดำเนินการต่อประเทศไทย

*THAI วอนรัฐเร่งปลดธงแดงให้เร็วที่สุดลดเสี่ยง

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI)ที่เข้าร่วมฟังแถลงข่าวเช้านี้ กล่าวว่า จากที่ไทยถูกขึ้นธงแดง และให้แก้ไขปัญหา SSC เมื่อ 13 ก.พ.58 ทำให้ช่วงที่ผ่านมาสายการบินไทยถูกตรวจสอบจากต่างประเทศถี่ขึ้นมากจากปกติตรวจสอบเดือนละ 3 ครั้ง แต่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันถูกตรวจสอบไปแล้วกว่า 50 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การบินไทยได้ผลตรวจสอบดีมาก ที่นำไปใช้เป็นหลักฐานการรับการตรวจสอบมาตรฐานการบินในประเทศต่างๆ

และ ICAO เปิดเผยการขึ้นธงแดงประเทศไทยต่อสาธารณะเมื่อวานนี้ ทำให้ทุกประเทศจะต้องตรวจสอบเข้มข้นมากขึ้นตามมาตรฐานการบินของแต่ละประเทศ จะเกิดความเสี่ยงแล้วแต่ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงขอร้องให้ บพ.เร่งปลดธงแดง หรือข้อบกพร่อง SSC โดยเร็วที่สุด

"ปัญหาที่ธงแดงที่ขึ้นมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ ทุกประเทศต้องเข้มข้น เช่นที่ญี่ปุ่น(JCAB)เมื่อหลายเดือนที่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอยู่ ตราบใดที่ธงแดงยังอยู่สายการบินก็ยังเสียว เสียวมากเสียวน้อยก็แล้วแต่สายการบินนั้นๆ ฉะนั้นมีความจำเป็นที่ต้องขอร้องทางการต้องพยายามให้อยู่ในช่วงธงแดงให้สั้นที่สุด อยากให้บ.พ. ปรับมาตรฐานให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นมันก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ความเสี่ยงได้แก่ ไม่สามารถขยายเส้นทางบิน หรือไม่สามารถเปิดให้บริการเช่าเหมาลำได้ แต่ก็ยังไม่ค่อยมีผลกระทบต่อธุรกิจมากนัก "นายจรัมพร กล่าว

ที่ผ่านมาสายการบิน และพบ.ได้เดินทางไปชี้แจงกับกรมการบินพลเรือนในประเทศแถบเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ