(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยพ.ค.ส่งออก -5.01% นำเข้า -19.97% เกินดุล 2.4 พันล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 26, 2015 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 18,429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -5.01 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -4.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA)

"การส่งออกของไทยยังลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าเกษตรมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาในตลาดโลก นอกจากนี้การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบยังขยายตัวต่ำ รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลยังพบว่าแม้การส่งออกของไทยจะขยายตัวต่ำแต่ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดที่สำคัญไว้ได้"นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าว

ปัจจัยที่มีผลกระทบให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ดังนี้ 1) ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอาเซียน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับการนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกที่ยังคงหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ เป็นต้น

2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือนพฤษภาคม 2558 ลดลงถึงร้อยละ -39.7 (YoY) ส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก 3) ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลงมาก ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรลดลง โดยเฉพาะยางพาราและน้ำตาลทราย 4) หลายประเทศใช้มาตรการลดค่าเงิน ทำให้สินค้าไทยราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบสินค้าของคู่ค้าและคู่แข่ง การใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย แต่ผลของการลดค่าเงินยังไม่เห็นผลในการช่วยหนุนให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น

"ยอมรับว่าส่งออกยังไม่สดใส เพราะตลาดโลกยังแย่ ราคาน้ำมันเป็นตัวกดราคาสินค้า สินค้าเกษตรก็ราคาลดลง แต่เราจะพยายามสู้ทุกทาง และสิ่งที่เป็นเรื่องดีคือตอนนี้ส่วนแบ่งตลาดของเรากลับดีขึ้น ซึ่งทำอย่างไรที่เราจะต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดนี้ไว้"นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อัตราหดตัวของมูลค่าส่งออกของไทยยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยสถิติส่งออกล่าสุดถึงเดือนเมษายน 2558 เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกติดลบมากกว่าไทย อาทิ ออสเตรเลีย (-21.9%) ฝรั่งเศส (-16.1%) สิงคโปร์ (-12.6%) ญี่ปุ่น (-6.4%) สหรัฐฯ (-4.7%) เกาหลีใต้ (-4.3%)

ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และไต้หวัน เป็นต้น และส่วนแบ่งตลาดในปี 2558 ของไทยในประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2557

ขณะที่นำเข้าเดือน พ.ค. ลดลงร้อยละ -19.97 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 85,371 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -9.39 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนพฤษภาคม 2558 เกินดุล 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2558 เกินดุล 3,323 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการนำเข้าในเดือนพ.ค.ที่หดตัวลงถึงเกือบ 20% นั้น เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งน้ำมันถือเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนในการนำเข้าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี หากหักมูลค่าการนำเข้าน้ำมันและทองคำออกแล้ว การนำเข้าจะหดตัวเพียง 8.7% เท่านั้น ขณะเดียวกันจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนของการนำเข้าสินค้าทุนด้วยว่าปรับลดลงมากน้อยเพียงใด เพราะจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ