"ประวิทย์-สุภิญญา"ค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.ระบุขาดอิสระ-ทำลายหลักการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2015 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับหลายมาตราใน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือ ร่าง พ.ร.บ. กสทช.

นายประวิทย์ กล่าวว่า ในการประชุม กสทช.นัดพิเศษครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 9 ก.ค.58 พิจารณาตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือแจ้งให้ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 10 ก.ค.ซึ่งมีหลายประเด็นสำคัญที่ไม่เห็นด้วย ถึง 16 มาตรา ได้แก่

มาตรา 4 เรื่องการกำหนดคุณสมบัติ เนื่องจากทำให้คณะกรรมการสรรหาสามารถใช้ดุลยพินิจกำหนดจำนวน กสทช.เฉพาะด้าน การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทั่วไปของ กสทช. เนื่องจากไม่ใช่การกำหนดคุณสมบัติที่สะท้อนความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติภารกิจ กสทช.

มาตรา 6 ถึงความเหมาะสมของกรรมการสรรหาเพราะจะขัดต่อบทบาทหน้าที่ด้านการตรวจสอบ

มาตรา 8 เรื่องการเปลี่ยนหน่วยงานธุรการในการสรรหา กสทช. จากสำนักเลขาวุฒิสภาเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

มาตรา 16 การนำเงินชดเชยการคืนคลื่นความถี่ ที่ควรคำนึงถึงการแสวงหาประโยชน์จากการชดเชยนี้ในกรณีของผู้ที่ถือครองคลื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่อาจนำคลื่นความถี่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรา 17 อำนาจการกำกับดูแลการอนุญาตประกอบกิจวงโคจรดาวเทียมที่ไม่ได้ควบคู่กับการกำกับคลื่นความถี่ที่ กสทช.ดูแล

มาตรา 19 มีประเด็นเรื่องการแทรกแซงการทำงานและความเป็นอิสระของ กสทช. และหากเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ควรส่งให้หน่วยงานอื่นมีความเป็นกลางพิจารณา

มาตรา 24 ที่เพิ่มข้อความ “โดยเฉพาะด้านการบริการสาธารณะแก่ประชาชน" เนื่องจากมีประเด็นปัญหาความไม่ชัดเจนของนิยาม เพราะเนื่องจากการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดก็คือการจัดสรรความถี่เพื่อบริการสาธารณะอยู่แล้ว

มาตรา 25 ที่มีการเพิ่มข้อความว่า “โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้" เนื่องจากเป็นการทำลายหลักการสำคัญของการประมูล

มาตรา 30 ไม่ควรเจาะจงให้เฉพาะ “หน่วยงานรัฐ" ที่จะเป็นผู้ดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมได้

มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 80/2557 ควรแก้ไขให้เกิดความชัดเจนว่าจะต้องไม่ใช่กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตนั้นสิ้นสิทธิในการใช้คลื่นความถี่แล้วตามกฎหมาย และต้องมิใช่กรณีผู้ได้รับอนุญาตสมัครใจคืนคลื่นเช่นกัน

มาตรา 32 ให้เพิ่มข้อความว่า เงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่นที่ได้รับคืนมา เป็นส่วนหนึ่งของรายได้กองทุนวิจัยฯ โดยไม่นำเข้ากองทุนดิจิทัลฯและไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งแตกต่างจากกรณีการจัดสรรคลื่นตามมาตรา 41(6) และ มาตรา 45(1) ที่ต่างให้นำส่งเข้ากองทุนดิจิทัลฯและหักค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกและเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยไม่พบว่ามีเหตุผลความจำเป็นใดที่ไม่กำหนดให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

มาตรา 33 อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติว่ากระทรวงการคลังจะทราบได้อย่างไรว่าเงินกองทุนดังกล่าวมีความจำเป็นหรือหมดความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ และเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีความจำเป็น ทั้งที่สามารถกำหนดในร่างมาตรา 32 ได้ว่าให้นำเงินรายได้ที่ได้จากการจัดสรรคลื่นที่ได้รับคืนตามมาตรา 48(4) ให้นำส่งเข้ากองทุนดิจิทัลฯตามส่วนที่กำหนด ส่วนที่เหลือเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 34 เรื่องการนำเงินกองทุนไปลงทุนได้ , มาตรา 37 ควรคงข้อความที่ให้เปิดเผยค่าตอบแทนเป็นรายบุคคลไว้

มาตรา 39 ควรให้มีการทบทวนที่มาของเงินกองทุนดิจิทัลฯ โดยควรเป็นงบที่รัฐจัดสรรให้ และไม่ควรกำหนดให้มีที่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี

และมาตรา 41 ที่แก้ไขเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ควรมีผู้แทนของหน่วยงานตรวจสอบภายนอกเป็นคณะกรรมการฯ

ด้านนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า มีหลายเรื่องสำคัญที่เห็นว่าควรยืนตาม พ.ร.บ.กสทช.ฉบับปัจจุบัน ได้แก่ องค์ประกอบของกรรมการ กสทช. คุณสมบัติ คณะกรรมการสรรหาและการดำเนินการคัดเลือก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาใหม่ทั้งหมดพบว่า ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม

อีกทั้งตัวแทนจากองค์กรอิสระที่จะดำเนินการสรรหา กสทช. อย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หรือ คระกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) มีภารกิจหลักในฐานะที่เป็นผู้ตรวจสอบ กสทช. อยู่แล้ว

รวมทั้งหลักความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแลที่กฎหมายฉบับใหม่กำหนดว่า กรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการของ กสทช. สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

นางสาวสุภิญญา เห็นว่า บทบัญญัตินี้ขัดกับหลักความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแลโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ สามารถปรับปรุงแก้ไขแผนและนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแลได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้ กสทช.ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ด้านการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ยังคงการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล แต่เพิ่มหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ ซึ่งการเขียนข้อยกเว้นไว้ในลักษณะนี้ อาจเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจและจัดสรรคลื่นด้วยวิธีคัดเลือกคุณสมบัติ อันจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสตามมา

ประเด็นกลไกตรวจสอบ กสทช.นั้น ที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานขาดความเหมาะสม เช่น ผู้แทนจาก ป.ป.ช. หรือ สตง.เป็นหน่วยงานหรือกลไกรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช.อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีความคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นกรรมการสรรหาและตัวแทนขององค์กรเหล่านี้เป็นคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้กระบวนการประเมินยังมีลักษณะเป็นเพียงกลไกภายใน ซึ่งเห็นว่ากลไกการตรวจสอบ กสทช.ควรเป็นหน่วยงานประเมินจากภายนอก(External audit) และมีการเปิดเผยผลการประเมินดังกล่าวต่อสาธารณะ

ส่วนการสนับสนุนการชดเชยการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ได้มีเพิ่มเติมใหม่ นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า การต้องใช้เงินของรัฐชดเชยหรือเยียวยาในกรณีที่ต้องนำคลื่นความถี่กลับมาจัดสรรใหม่ เป็นกรณีที่ผิดไปจากหลักการและข้อเท็จจริง เนื่องจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ได้กำหนดกรอบเวลาในการปรับตัวไว้อย่างเพียงพอแล้ว

รวมทั้งหน่วยงานรัฐต่างรับรู้แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ ปี 2553 มีผลบังคับใช้ หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ถือครองคลื่นและประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ตลอดระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 15 ปี จึงไม่มีเหตุผลหรือความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ที่จะต้องนำเงินของรัฐไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับหน่วยงานของรัฐเอง

ประเด็นการบริหารกิจการภายในของสำนักงาน กสทช.นั้น ข้อสังเกตว่ามีบางมาตราประสงค์จะแก้ไขการบริหารงานของสำนักงานโดยมีความคลุมเครือในแง่เหตุแห่งความจำเป็น อาทิ มาตรา 38 ที่กำหนดให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 60 ของพ.ร.บ.ปัจจุบัน และเสนอให้มีรองเลขาธิการ กสทช. ฝ่ายนโยบายและรองเลขาธิการฝ่ายประจำตามจำนวนที่ กสทช.กำหนด รองเลขาธิการ กสทช.ฝ่ายประจำต้องแต่งตั้งจากพนักงานประจำของสำนักงาน กสทช. หรือ บทบัญญัติในมาตรา 46 วรรคสองและวรรคสาม พบว่า มีเนื้อความที่สร้างความสับสนในเรื่องการกลับเข้ามาของตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. โดยให้มีฐานะเป็นพนักงานประจำของสำนักงาน กสทช. เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย นับตั้งแต่มีข้อเสนอในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย กสทช. ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่าทุกภาคส่วนมีข้อเสนอแนะ และแสดงความห่วงใยในหลากหลายประเด็น จึงเห็นว่าขั้นตอนของการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ควรนำความเห็นที่หลายฝ่ายได้นำเสนอไปแล้วมาพิจารณา ประกอบกับเปิดให้ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค และตัวแทนภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้ามา มีส่วนในกระบวนการพิจารณาจัดทำร่างฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและประโยชน์สูงสุดต่อการจัดสรรทรัพยากรต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ