(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เสนอ 6 มาตรการกระตุ้น ศก.เข้า ครม.4 ส.ค.ดัน GDP ปีนี้โต 3.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2015 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็น 6 เรื่อง และเตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

สำหรับ 6 มาตรการประกอบด้วย 1. การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางราง ถนน น้ำ สนามบิน รวมงบกรมทางหลวง และทางหลวงชนบท 6.5 หมื่นล้านบาท

2. การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โดยจะส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ที่มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ การส่งเสริมผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการลงทุนในเศรษฐกิจเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมยาง

3. การกระตุ้นโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง ซึ่งในส่วนนี้จะแบ่งเป็น 6 หัวข้อ คือ 3.1 การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 3.2 การกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่น 3.3 การให้สินเชื่อและการค้ำประกัน SMEs 3.4 การกระตุ้นผ่านมาตรการภาษี 3.5 การกระตุ้นผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 3.6 การกระตุ้นผ่านมาตรการอื่นๆ เช่น นาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น

4. การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการที่บรรจุในงบประมาณประจำปี ซึ่งในปี 58 มีโครงการลงทุนทั้งหมด 1.57 แสนล้านบาท โดยจะเร่งติดตามให้เกิดการใช้จ่ายเร็วขึ้น

5. การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมุนเวียน เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผ่านการดำเนินงานของ 10 กองทุน เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น

และ 6. การปรับปรุงการบริหารสหกรณ์ที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการปรับปรุงจุดอ่อนให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อรองรับนโยบายจากรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

"คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในการติดตาม ดูแล ประเมินความเหมาะสมของแต่ละโครงการ ขณะที่ส่วนราชการต่าง ๆ ยังเป็นผู้ผลักดันโครงการเช่นเดิม ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะมีเม็ดเงินตาม 6 มาตรการที่อยู่ในงบประมาณปี 2558 ราว 5 แสนล้านบาท และจะสามารถเบิกจ่ายได้จริงราว 3.5 แสนล้านบาท โดยหากการดำเนินมาตรการมีศักยภาพเพียงพอจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3.2%"นายสมหมาย กล่าว

นายสมหมาย กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลได้มอบนโยบายให้กับส่วนราชการทั้งหมดเตรียมความพร้อมในการเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่ช่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ในวาระ 3 เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้เร็วขึ้น หากส่วนราชการใดไม่เร่งดำเนินการก็ต้องมีการรับผิดชอบในความล่าช้าที่เกิดขึ้นด้วย

สำหรับการเบิกจ่ายเงินในปีงบประมาณ 2558 ล่าสุด ณ วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายในภาพรวมได้ 2.04 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของงบประมาณทั้งหมด โดยมั่นในว่าทั้งปีงบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่ 96% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด ขณะที่งบลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้ 2.36 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 53% ของงบลงทุนรวมที่ 4.49 แสนล้านบาท

นายสมหมาย กล่าวยอมรับว่ามีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าถึง 35 บาท/ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ต้องการดึงเงินจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)กลับ ส่งผลให้เงินบาทรวมถึงสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การไหลออกของค่าเงินในขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง

"การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้ ไม่เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นไปตามทิศทางของตลาดทั้งสิ้น เพราะเงินในหลาย ๆ สกุลอื่นก็อ่อนค่าลงเช่นเดียวกัน" รมว. คลัง กล่าว

นายสมหมาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไม่ปกติ หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็คงไม่ช่วยให้เกิดการกู้เงินเพื่อไปลงทุนเพิ่มขึ้นแน่ โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังอยู่ในลักษณะ U shape ไม่ใช่การฟื้นตัวแบบ V shape ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 3-3.2% ถือเป็นระดับที่น่าดีใจแล้ว ส่วนการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวมากขึ้นนั้นคงต้องใช้เวลาอีกระยะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ