เสียงส่วนใหญ่เชื่อ กนง.5 ส.ค.ตัดสินใจ"คง"ดอกเบี้ย แม้อีกฝ่ายมองโอกาส"ลด"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2015 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์และสถาบันเศรษฐกิจเสียงส่วนใหญ่ประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบที่ 5 ของปี 58 ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% เพื่อรอดูพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปก่อนและน่าจะเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น เพราะมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยตอนนี้อาจไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่ฝ่ายเก็ง"ลด"ดอกเบี้ยเห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย             คง                      1.50%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics)            คง                      1.50%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                                    คง                      1.50%
บล.เอเชีย เวลท์                                    คง                      1.50%
บลจ.ทหารไทย                                      คง                      1.50%
บล.ภัทร                                           ลด                      1.25%
ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย                         ลด                      1.25%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC)     ลด                      1.25%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าที่ประชุม กนง.จะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปีเช่นเดิม เนื่องจากไม่เกิดประโยชน์ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หลังเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ

"น่าจะตรึงต่อไป เพราะดอกเบี้ยตอนนี้ต่ำพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจ ปรับลดไปอีกแบงก์ก็ไม่ตอบสนอง หรือตอบสนองช้าเหมือนครั้งก่อน" นายธนวรรธน์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ การที่ กนง.มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งก่อนหน้านี้ เนื่องจากต้องการส่งสัญญาณให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก การปล่อยสินเชื่อ และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ขณะนี้เงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออกอยู่แล้ว จึงไม่เกิดประโยชน์หากจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก โดยอาจเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันหาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยอาจส่งผลทางจิตวิทยาเชิงลบให้เงินทุนไหลออก

ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ ที่ส่งสัญญานการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ของปีนี้, การคลายความกังวลปัญหาการชำระหนี้ของกรีซ, สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น ตลอดจนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ตอนนี้ไม่มีปัญหา

ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้กระทรวงการคลังเตรียมเสนอแนวทางออกมาตรการ 6 เรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายและไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะยาว

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ยังกล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่องว่า เป็นเพียงสัญญาณเงินฝืดทางเทคนิคเท่านั้น เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง เพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ

บทวิเคราะห์ของ บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ย แม้จะเป็นอีกครั้งที่ตัดสินใจยากระหว่าง"ลด"หรือ"คง"อัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังต้องการยากระตุ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่รวมถึงเราเชื่อว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยที่ 1.5% ในการประชุมพรุ่งนี้ เพราค่าเงินบาทอ่อนลงมากในช่วงที่ผ่านมา(1 เดือนที่ผ่านมา อ่อนค่ากว่าเงินสกุลเอเชีย 2%) และหากภาครัฐเร่งเบิกจ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ กนง.จะได้เก็บกระสุนไว้ หาก กนง.คงดอกเบี้ย ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าชั่วคราว

เช่นเดียวกับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ประเมินว่า กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เพื่อรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีโอกาสที่ กนง.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งภายในปลายปี 58 เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับสูง

และศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ กนง.มีความยากลำบากในการตัดสินใจ เนื่องจากเหตุผลสนับสนุนการคง อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีน้ำหนักไม่หนีไปจากทางเลือกในการลดอัตราดอกเบี้ยมากนัก แต่คาดว่า ธปท.จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เพื่อรอประเมินผลของเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อการส่งออก และแรงส่งของการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2558 ขณะเดียวกันก็ช่วยประคองเสถียรภาพการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไปควบคู่กัน

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือการประชุม กนง.ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของ บล.เอเชีย เวลท์ คาดว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม เนื่องจากปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงมากว่า 4% จาก 31 บาท/ดอลลาร์ มาเป็น 34 บาท/ดอลลาร์แล้ว

ด้านนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย มองโอกาสทั้งสองด้าน โดยคาดว่า กนง.จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% หรือมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะหากดูจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แม้ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันก็ถือว่าเหมาะสม และสามารถประคองเศรษฐกิจไทยได้แล้ว แต่สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังชะลออยู่และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำก็อาจจะมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้

ทั้งนี้ ในการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.58 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยเห็นพ้องว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจยังมีอยู่และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จึงควรรักษา policy space ไว้สำหรับสถานการณ์ที่มีความจำเป็นและภายใต้บริบทที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะเกิดประสิทธิผลมากขึ้น

ขณะที่นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% จากปัจจุบัน 1.5% หลังจาก ธปท.ออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในด้านขาลง โดยการฟื้นตัวขึ้นยังช้าและมีความเปราะบาง

ด้าน น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย คาดว่า กนง.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% ภายในไตรมาสที่ 3 และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวจนถึงปลายปี 59

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า กนง.จะมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในช่วงไตรมาสที่ 3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/58 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ออกมาแล้วยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นของภาคการบริโภคไนประเทศและภาคการลงทุน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อยังต่ำอยู่ยังทำให้มีช่องว่างให้สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ