คกก.กองทุนหมู่บ้านฯ มีมติเพิ่มทุนระยะสามกว่า 2 พันกองทุน ตั้งเป้าแล้วเสร็จก.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2015 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวพันธ์ ตันยุวรรณะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกองทุนหมู่บ้านฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ว่าให้ดูแลช่วยเหลือกองทุนหมูบ้าน โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 18,566 กองทุนที่ยังไม่ได้รับการเพิ่มทุนระยะที่ 3 กองทุนละ 1 ล้านบาท

ทั้งนี้สามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1.กองทุนที่ได้มีการยื่นเรื่องขอเพิ่มทุนระยะที่สามแล้ว แต่ยังมีข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ จำนวน 2,360 กองทุน ซึ่งคณะกรรมการฯ ตั้งเป้าว่าจะสามารถอนุมัติเพิ่มทุนได้ภายในเดือนกันยายนนี้ และในที่ประชุมฯได้มีการอนุมัติให้เพิ่มทุนไปแล้ว 768 กองทุน

2.กองทุนในกลุ่มเอ และบี ที่ถือเป็นกองทุนในระดับดีมีศักยภาพสูง แต่ไม่ประสงค์ที่จะขอเพิ่มทุนระยะที่สาม เพราะเพียงพอต่อการดำเนินการแล้วจำนวน 5,524 กองทุน ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ให้กองทุนดังกล่าวกลับไปทบทวนเพื่อขอเพิ่มกองทุนต่อไป 3.กองทุนระดับซี หรือปานกลางที่ยังคงมีจุดอ่อนของบกพร่อง จากการที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ใช้ตัวชี้วัด แต่ยังได้คะแนนไม่ดี โดยพบว่า ยังมีปัญหาเรื่องระบบการเงิน เงินออม และระบบบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 4,594 กองทุน ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องนำกองทุนในกลุ่มนี้เข้าแผนฟื้นฟูฯ โดยจะให้ความรู้ความช่วยเหลือในการจัดการบัญชีและเงินออมของสมาชิก โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถเห็นผลในเดือนตุลาคม

4.กองทุนระดับดี มีหนี้ที่ค้างชำระ คณะกรรมการไม่มีการดำเนินการ จำนวน 4,769 กองทุน ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องเข้าแผนฟื้นฟูฯ อย่างใกล้ชิดเป็นรายกองทุน 5.กองทุนที่มีปัญหาไม่สามารถขับเคลื่อน หรือเดินหน้าได้ ซึ่งต้องดูแลอย่างเข้มข้น ต้องบังคับใช้กฎหมาย และเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการจำนวน 581 กองทุน และ 6.กองทุนทหาร จำนวน 738 กองทุน ซึ่งถือเป็นกองทุนในรูปแบบพิเศษ เนื่องจากตั้งอยู่ในกรม กองทหาร ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องมีการจัดอนุกรรมการพิเศษเข้าไปดูแลเพิ่มเติม

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนแผนฟื้นฟูฯ นั้นจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 15 สิงหาคม-15 พฤศจิกายน 2558 โดยจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และจำแนกว่าจะสามารถช่วยเหลือ และเพิ่มทุนได้อย่างไรบ้าง ขณะที่กลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องใช้แผนฟื้นฟูนั้นทางคณะกรรมการก็จะมีการพิจารณาเป็นรายเดือน และคณะกรรมการจะพยายามช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด หากกองทุนใดไม่สามารถเดินหน้าได้จริงก็จะมีการหามาตรการพิเศษในการช่วยเหลือ เพราะไม่อยากตัดกองทุนใดออกไป เนื่องจากสมาชิกกองทุนจะเป็นคนได้ประโยชน์จริงๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ