ไทย-ลาวผนึกกำลังชูจุดแข็งการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวดึงดูดต่างชาติลงทุนAEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 10, 2015 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาเรื่อง "การเกื้อกูลทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน" ในงานสัมมนา "เขตเศรษฐกิจพิเศษไทย-สปป.ลาว โอกาสการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว"ว่า ลาวกับประเทศไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันด้วยเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาอย่างยาวนาน โดยจะเข้าสู่ปีที่ 65 ในวันที่ 19 ธ.ค.58 นี้ ทั้งนี้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นใกล้ชิดบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน คำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน และมีพัฒนาการเชิงบวก โดยมีปัจจัยเกื้อกูลกันตลอดมา

จากความสัมพันธ์ฉันท์มิตรดังกล่าวนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นห้วงเวลาที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศทั้ง 2 ของเรา เพราะเป็นห้วงเวลาที่พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการที่กำลังเกิดขึ้น จะเกื้อหนุนให้เราก้าวสู่บริบทใหม่ของความร่วมมือระหว่างกันที่จะเปี่ยมไปด้วยพลังและโอกาส โดยที่ใกล้ตัวก็คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเริ่มเป็นทางการปลายปีนี้ และการสัมมนาในวันนี้ย่อมสะท้อนถึงการที่รัฐบาล สปป.ลาว และรัฐบาลไทยรวมถึงภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของบริบทใหม่ของความร่วมมือที่กำลังมาถึง

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศด้วยความจำเป็นเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งรัฐบาลได้ประสบความสำเร็จแล้วในการนำประเทศไทยคืนสู่ความสงบ มีเสถียรภาพในทุกมิติ และพร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ใช้โอกาสวางโรดแมพ (Roadmap) เพื่อนำพาการปฏิรูปและวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในแนวทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทั้งในระดับภูมิภาคและในเวทีโลก

สำหรับโรดแมพด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลไทยให้ความสำคัญลำดับต้นกับการพัฒนายกระดับการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สปป.ลาว โดยได้ตั้งเป้าหมายให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศระหว่างกันเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่าการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้อย่างเต็มศักยภาพ และจะบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันการดำเนินการใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่

ประการแรก คือการที่ภาครัฐจะสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถขยายและพัฒนาโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลงภายใต้เออีซีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ประการที่สอง คือ การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมมือกันสร้างเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้นให้เป็นที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดคู่ค้าผู้ลงทุนจากภูมิภาคอื่นให้เข้ามาสู่เออีซี เพราะจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวขนาดใหญ่ของโลกอีกแห่งหนึ่ง และที่สำคัญเป็น Gateway ที่เชื่อมโยงเออีซีกับภูมิภาคและตลาดหลักโดยรอบผ่านข้อตกลงการค้าเสรี เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ตลอดจนตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เพื่อร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่งคือ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) 10 จังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศให้สอดรับกับความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง การค้าและการลงทุนที่กำลังจะยกระดับขึ้นในอาเซียนและประเทศคู่ค้าหลัก เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้จะเป็นประตูสู่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียน โดยธุรกิจที่จะกำหนดให้ได้รับการส่งเสริมในแต่ละเขตนั้น จะพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงหรือคลัสเตอร์เป้าหมาย (target cluster) ที่สามารถใช้ประโยชน์จากปัจจัยด้านการผลิต ทักษะ แรงงาน ได้ดีที่สุดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจนั้นๆ

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่ติดกับ สปป.ลาว คือ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยมีกิจการเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดนักลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมยางพารา,ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน, ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ, คลังสินค้า, นิคมอุตสาหกรรม และบริการสาธารณูปโภค และยังมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ในอนาคตจะจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมที่จังหวัดหนองคายและนครพนมต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ การเร่งขับเคลื่อนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะระบบถนนและรถไฟรางคู่ใหม่ทั่วประเทศ 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้า และที่สำคัญเพื่อเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเข้าด้วยกัน โดยสามารถเชื่อมต่อออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายคมนาคมขนส่งประสิทธิภาพสูงของอาเซียนสำหรับฐานผลิตสินค้าในชุมชนสู่ตลาดทั้งในไทย และในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ

สำหรับการคมนาคมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว นั้น ปัจจุบันมีเส้นทางระหว่างไทยกับ สปป.ลาวไปยังจีนตอนใต้ได้โดยสะดวกรวดเร็ว โดยถือเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างตะวันออก-ตะวันตกบนแนว East - West Economic Corridor (EWEC) ตามเส้นทางหมายเลข 9 เริ่มจากเมืองเมาะละแหม่ง (เมียนมา) ผ่านด่านเมียวดี – แม่สอด ผ่านจังหวัดพิษณุโลกถึงจังหวัดมุกดาหาร ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ที่เน้นด้านการค้า บริการโลจิสติกส์ คลังสินค้า และอุตสาหกรรมแปรรูป เข้าสู่ท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร และเส้นทางหมายเลข 9 ยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟในแนวเหนือ-ใต้ ไทย สปป.ลาวไปยังจีนตอนใต้ได้โดยสะดวก รวมทั้งยังอยู่ในแนวรถไฟทางคู่สายหนองคาย – นครราชสีมา – ท่าเรือแหลมฉบัง อีกด้วย

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนโดยอาศัย AEC ที่จะเกิดขึ้นมีความพร้อมที่ก้าวขึ้นเป็นเขตการค้าการลงทุนศักยภาพสูงแห่งใหม่ของเอเชียและของโลก สปป.ลาว และประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเราจะมีบทบาทเด่นในการช่วยขับเคลื่อนให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยความเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุน การคมนาคมที่เราสามารถร่วมกันผลักดันพัฒนาผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดน ก็จะเกิดเป็นขุมพลังในเชิงพาณิชย์ที่เข้มแข็งออกสู่ตลาดในประเทศเพื่อนสมาชิก AEC ในตอนใต้ และตะวันออกของอาเซียน โดยเป็นการขยายความเชื่อมโยงด้านการค้า การลงทุน ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ไปยังประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ความเชื่อมโยงไทย-สปป.ลาว-เมียนมา หรือไทย- สปป.ลาว-เวียดนาม หรือไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ซึ่งความเชื่อมโยงดังกล่าวในภาพรวมจะส่งผลให้เออีซีเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นที่สนใจของคู่ค้าผู้ลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ

"ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้า การลงทุนกับ สปป.ลาว มาอย่างต่อเนื่อง และระหว่างวันที่ 26 - 28 ส.ค.นี้ กรมการค้าต่างประเทศจะจัดกิจกรรมนำคณะผู้แทนการค้าการลงทุนไทย ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค เดินทางไปเจรจาขยายลู่ทางการค้าการลงทุน ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ขณะนี้มีเอกชนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมคณะผู้แทนฯ แล้วกว่า 40 ราย นับเป็นนิมิตหมายอันดีในการเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศต่อไป" รมว.พาณิชย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ