(เพิ่มเติม) คลัง เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้างสิ้น ก.ค.58 อยู่ที่ 42.85% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2015 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษก สบน. เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 กรกฎาคม 2558 มีจำนวน 5,718,472.95 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.85 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 33,982.19 ล้านบาท

โดยหนี้ของรัฐบาล มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 21,185.07 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 20,000 ล้านบาท, กู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 7,020.46 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.การกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ จำนวน 5,662.24 ล้านบาท ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินให้กู้ต่อ 3,232.40 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง, การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินให้กู้ต่อ 663.25 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถรถไฟสายสีแดง และโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง และบมจ. การบินไทย (THAI) กู้ต่อ 1,766.59 ล้านบาท สำหรับโครงการซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-600

2. การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน จำนวน 1,000 ล้านบาท การชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 6,957.47 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 6,864 ล้านบาท หนี้ต่างประเทศ 93.47 ล้านบาท

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 85.16 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ เพิ่มขึ้น 5,921.28 ล้านบาท

การชำระคืนหนี้มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้หนี้ลดลง 5,836.12 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้ต่างประเทศ ของบมจ. การบินไทย (THAI) 3,345.30 ล้านบาท และการชำระคืนหนี้ในประเทศมากกว่าการเบิกจ่าย 1,345.65 ล้านบาท

สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 3,324.79 ล้านบาท โดยมีรายการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชำระหนี้เงินต้นที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้เงินจากการระบายข้าว จำนวน 2,258 ล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ไถ่ถอนพันธบัตรที่กู้มาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนด จำนวน 1,000 ล้านบาท หน่วยงานของรัฐ มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 16,036.75 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูผลิต ปี 2557/2558

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 เท่ากับ 5,718,472.95 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 5,373,471.74 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.97 และหนี้ต่างประเทศ 345,001.21 ล้านบาท (ประมาณ 9,967.94 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.03 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 156,944.03 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ 31 กรกฎาคม 2558) หนี้ต่างประเทศ จะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.35 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ

โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,605,172.95 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.02 และ มีหนี้ระยะสั้น 113,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.98 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

นายธีรัชย์ กล่าวว่า สบน. จะมีการทบทวนกรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยเฉพาะในส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ตามนโยบายและความเป็นห่วงของรัฐบาลที่กำชับให้มีการตั้งกรอบความยั่งยืนทางการคลังใน 5 ปี ภาระหนี้ต่อ GDP ต้องไม่เกิน 50% ซึ่งหลังจากนี้ต้องไปดูว่าจะสามารถลดภาระหนี้ส่วนไหนได้บ้าง

โดยหลัก ๆ จะเน้นไปที่การผลักดันโครงการลงทุนของรัฐให้มีการลงทุนในรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) มากขึ้น ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่ามีโครงการลงทุนใดบ้างที่มีความเหมาะสมที่จะใช้การลงทุนในลักษณะดังกล่าว ซึ่งตามแผนแล้ว สคร. มีโครงการลงทุน คิดเป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะใช้การลงทุนในรูปแบบ PPP โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดการกู้เงิน ซึ่งจะมีผลต่อภาระหนี้ให้ลดลงมากที่สุด

“ที่ผ่านมา สบน. อาจจะมีการประเมินแบบมองโลกในแง่ร้าย เพราะเราเป็นปราการด่านสุดท้ายในภาคการคลัง ดังนั้นถ้าเรามองอะไรดีเกินไป แล้วผลสุดท้ายกลับเป็นร้ายกว่าที่เรามอง ก็อาจจะไม่ดีต่อการบริหารจัดการ แต่เท่าที่ผ่านมาจะพบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังไม่มีการปรับตัวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยในปีงบประมาณ 2558 คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDPจะอยู่ที่ไม่เกิน 44% และปีงบประมาณ 2559 ไม่เกิน 47% ซึ่งตอนนี้สัดส่วนหนี้ก็ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์อยู่มาก" นายธีรัชต์ กล่าว

นายธีรัชต์ กล่าวอีกว่า จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลทำให้เงินบาทของไทย ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึงปัจจุบันอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 10% นั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาระหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ ที่มีวงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก สบน.ได้เร่งดำเนินการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว และยังเหลือวงเงินอีกเพียง 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวที่ยังไม่ได้ดำเนินการปิดความเสี่ยง ส่วนหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) ได้เร่งดำเนินการปิดความเสี่ยงไปแล้ว 60-70% และยังเหลือวงเงินอีก 2.1 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปิดความเสี่ยง

สำหรับความคืบหน้าในการเบิกจ่ายเม็ดเงินในโครงการลงทุนด้านถนนและน้ำ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เบิกจ่ายไปแล้ว 3.3 พันล้านบาท และมีโครงการที่ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2558 ส่วนราชการจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ