(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า ปรับคาดการณ์ GDP ปี 58 เป็นโต 3.1% ประเมินปี 59 โตได้ 4.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2015 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้า ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 58 เป็นโต 3.1% จากเดิม 3.2% และ การส่งออกคาดว่าจะ -4.8% จากเดิมคาดโต 0.4% จากปัจจัยที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะติดลบ -0.6% จากเดิมคาดเพิ่มขึ้น 0.5%

ส่วนในปี 59 คาดว่า GDP ของไทยจะเติบโตได้ราว 4.2% แต่ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากภาครัฐ ด้านการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ราว 5.3% และอัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก 1.4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 58 จะเติบโตได้ 3.1% โดยมีกรอบการขยายตัวอยู่ในช่วง 2.8-3.3% ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยประมาณการไว้ในเดือน เม.ย.58 ที่3.2%

ปัจจัยลบสำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้การค้าและการลงทุนของโลกซบเซาตามไปด้วย ขณะที่ปัญหาภัยแล้งยาวนานส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรหดหายไป นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูงทำให้อำนาจซื้อของครัวเรือนลดลงด้วย และล่าสุดยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาจากกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ลงมติไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การเลือกตั้งที่เดิมคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 59 จำเป็นต้องเลื่อนออกไป อันมีผลในทางต่อจิตวิทยาต่อนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป(อียู)ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) และอาจงดนำเข้าสินค้าประมงของไทยชั่วคราว เนื่องจากการทำประมงขัดกับกฎระเบียบ IUU ของอียู, องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ให้ใบแดงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย และเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเน้นการพึ่งพาสินค้าในประเทศและลดการนำเข้า

ด้านปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ การเมืองในประเทศยังมีเสถียรภาพที่ดี, คณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจน, ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี, การดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 1.50% มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวอยู่ในระดับ 4% หรือมีมูลค่าราว 216,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าลดลง 8.1% หรือมีมูลค่าราว 209,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คาดว่าในปีนี้ไทยจะเกินดุลการค้าราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะติดลบ 0.6% แต่ไม่ใช่สถานการณ์ของเงินฝืด เพราะการติดลบของเงินเฟ้อมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ และทั้งปีนี้เงินบาทจะมีระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ในกรอบ 33.00-36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 59 ว่าจะเติบโต 4.2% โดยมีกรอบในช่วง 3.9 – 4.5% ซึ่งโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ตามเป้า ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“ปีหน้าเรามองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้มากกว่า 4% หรืออาจจะขึ้นไปได้ถึง 4.5% แต่ทั้งนี้ก็ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะหลุดลงไปจากระดับ 4% ได้ หากเศรษฐกิจจีนมีปัญหา"นายธนวรรธน์ กล่าว

การส่งออกของไทยในปี 59 คาดว่าจะเติบโตได้ 5.3% ที่มูลค่าประมาณ 228,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าคาดว่าจะเติบโต 5.2% ที่มูลค่าประมาณ 220,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ทั้งปี 59 ไทยยังคงเกินดุลการค้าราว 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตของการส่งออกในปีหน้ามาจากฐานที่ต่ำในปีนี้ ประกอบกับคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว และผลจากที่เงินบาทอ่อนค่าเอื้อต่อการส่งออก

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีหน้า คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยขยายตัว 1.4% ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 59 อยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ในกรอบ 35.00 – 37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

“เงินเฟ้อในปี 59 คงไม่สูงมาก เนื่องจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจเพิ่งจะฟื้นตัว ดังนั้นเงินเฟ้อที่ระดับ 1.4% จึงถือว่าไม่สูง" นายธนวรรธน์ กล่าว

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 59 ประกอบด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรป, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs, สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพ, ภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างชัดเจน, การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง, สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกังวลตัวเลข NPL , ต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ