BBL คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.-มองบาทขณะนี้อ่อนค่าสอดคล้องภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 18, 2015 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวว่า แม้ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ แต่ได้เห็นการตัดสินใจที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้อย่างแน่นอนอย่างน้อย 1 ครั้ง
"การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมนัดสำคัญที่มีการแถลงถึงแนวคิดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน แม้จะมีการคงดอกเบี้ยในครั้งนี้เพื่อรอดูเหตุการณ์ต่างๆ แต่ประธานเฟดบอกว่ากรรมการส่วนมากอยากขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งในปีนี้จะเหลืออีก 2 meeting คือ ตุลาคม และ ธันวาคม" นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่าฟื้นตัวจากวิกฤติเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ตัวเลขการจ้างงานสูงขึ้นกว่าปี 2008 ถึง 2-3% มีการจ้างงานเดือนละ 2-3 แสนคนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะปกติ จึงทำให้สหรัฐฯ เองมีคำถามว่าแล้วทำไมถึงจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้ที่ 0-0.25% ต่อเนื่องมาถึง 7 ปี ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ มองว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ การที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องไปนานขนาดนี้ สหรัฐฯ อาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหาในอนาคตได้ จึงทำให้ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเตรียมการที่จะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้

นายกอบศักดิ์ คาดว่า FOMC จะปรับดอกเบี้ยในช่วงเดือน ธ.ค.58 ซึ่งเป็นการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ เพราะการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนั้นจะทำให้ได้รับข้อมูลภาวะเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีของประเทศต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกก่อนที่จะนำมาตัดสินใจ รวมทั้งให้เวลาตลาดได้ปรับตัวอีกเล็กน้อย

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลงเล็กน้อยในระยะสั้นๆ เนื่องจากเป็นการปรับความคาดหมายใหม่ว่า FOMC ยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แต่จะเป็นการปรับขึ้นในรอบต่อไป ซึ่งเมื่อถืงช่วงเวลาที่ FOMC ปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะกลับมาแข็งค่าขึ้นและจะมีผลต่อเงินบาทให้อ่อนค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการไว้ในช่วงปลายปี

นายกอบศักดิ์ มองว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าปรับตัวได้ดีแล้ว จากก่อนหน้าที่แข็งค่าอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ถึง 3-4 เดือนในช่วงต้นปี ซึ่งแข็งขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สกุลเงินของประเทศอื่นอ่อนค่า และการที่เงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงมา 3-4 บาท/ดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลง 10-12% จากช่วงต้นปี ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคยกเว้นริงกิตมาเลเซีย

"ตอนนี้ค่าเงินบาทสอดคล้องกับภูมิภาค น่าจะแข่งขันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินบาทจะหยุดอยู่ตรงนี้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ของจีน การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ ชี้ไปทิศทางเดียวกันว่าในช่วง 3-6 เดือนนี้เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าได้อีกจากปัจจัยภายนอก" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ขณะที่มองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหมดช่วงขาลงแล้ว การลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพราะต้องการส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง และขณะนี้เงินบาทได้อ่อนค่าลงไปจากช่วงต้นปีมากแล้ว จึงเชื่อว่า กนง.คงจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งเงินบาทในระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์ ถือว่ามีความเหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ