"ประสาร"ไม่ห่วงศก.ไทยยันมีเสถียรภาพ แต่มองแนวนโยบายไม่ต่อเนื่องเป็นอุปสรรค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2015 09:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงความเชื่อมั่นว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลและผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ จะมีความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องฝากงานอะไรเป็นพิเศษ ประกอบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากระบบการเงินและสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงดี อีกทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาก็ดำเนินไปได้ตามแผนที่วางไว้

"ทั้งทีมเศรษฐกิจใหม่และผู้ว่าฯ คนใหม่ก็เข้าใจโจทย์ของประเทศเป็นอย่างดี คงไม่มีอะไรจะต้องฝากเป็นพิเศษ...ไม่เป็นห่วงอะไร เพราะผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ก็ได้เข้ามาเตรียมตัวในระยะเวลาหนึ่งแล้ว เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการไปได้ดี"นายประสารกล่าวในโอกาสอำลาตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.

นายประสาร ยังกล่าวถึงความรู้สึกตลอด 5 ปีของการทำงานในฐานะผู้ว่าฯ ธปท. โดยยอมรับว่าการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.ไม่ใช่งานง่าย แต่หากเทียบเคียงกับผู้ว่าฯ ธปท.แต่ละคนในอดีตที่ผ่านมา ก็เห็นว่าไม่ได้รับแรงกดดันอะไรที่พิเศษมากไปกว่าผู้ว่าฯ ธปท.คนก่อนๆ ขณะเดียวกันมองว่ายังต้องปรับปรุงการทำงานของ ธปท.ในเรื่องการประสานนโยบายกับรัฐบาลให้มากขึ้น แม้จะยอมรับว่าบรรยากาศการทำงานอาจไม่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายเท่าใดนัก เนื่องจากในระหว่างการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ ธปท. 5 ปี มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 3 ครั้ง และเปลี่ยน รมว.คลังถึง 5 คน จึงส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานสานต่อนโยบายต่างๆ

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า หลังจากนี้ ในส่วนของงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.ที่อยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ จะส่งมอบหน้าที่ให้กับผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ดำเนินการต่อ แต่ในส่วนของตำแหน่งที่แต่งตั้งตามรายชื่อบุคคลนั้น จากพิจารณาตามความเหมาะสม ว่าจะดำเนินการต่อเอง หรือส่งต่อให้กับผู้ว่าฯธปท.คนใหม่ เช่น คณะกรรมการขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ จะส่งมอบให้กับผู้ว่าฯธปท.คนใหม่สานต่อ ส่วนคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ด และคณะอนุกรรมการซุปเปอร์โฮลดิ้ง ตนจะทำหน้าที่ต่อไป

พร้อมกันนี้ มองว่าสิ่งที่ยังต้องจับตาเพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ซึ่งต้องไม่ประมาทและเตรียมเครื่องมือไว้รองรับกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงต้องติดตามเรื่องปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งนี้ถือว่ามีสัญญาณที่ดีเนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นายประสาร กล่าวว่า โจทย์หนึ่งที่อยากเห็นคือ การลงทุนในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะต่อไปได้ด้วย

ส่วนการอัดฉีดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) กองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระดับตำบลผ่านโครงการลงทุนขนาดเล็กนั้น หากช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด จะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศได้ เนื่องจากจะมีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มมากขึ้นได้จริง แต่ทั้งนี้หากระบบการกลั่นกรองการช่วยเหลือประชาชนขาดประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้มาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิผลตามที่ต้องการ

"เราหวังเสมอว่าเมื่อมีการใช้มาตรการในการนำส่งเงินทุนเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหรือพื้นที่ใดก็แล้วแต่นั้น เราอยากจะเห็นว่าช่วยทำให้เกิดผลผลิต หรือสร้างรายได้ทางใดทางหนึ่งกลับมา" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ