(เพิ่มเติม) ADB ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือโต 2.7%, ปี 59 โต 3.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2015 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) ระบุว่า ADB ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้เหลือโต 2.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และอุปสงค์ที่เบาบางลง ส่วนปี 59 คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ 3.8% โดยมีปัจจัยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหนุน

ก่อนหน้านี้ ทาง ADB ได้ประมาณการ GDP ไทยปี 58 จะขยายตัวได้ 3.6% ขณะที่ปี 59 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 4.1%

น.ส.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 58 น่าจะขยายตัวได้ราว 2.7% (บนสมมติฐานที่ยังไม่ได้นำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมาประกอบ) จากปัจจัยในเรื่องของการส่งออกที่ยังคงติดลบ โดยคาดส่งออกในปีนี้จะติดลบ 2-3% รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่น่าจะมีออกมาอย่างที่คาดการณ์ไว้ ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของจีดีพี เป็นเรื่องของการท่องเที่ยวและบริการ ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ยังต้องจับตาดูว่าจะส่งผลบวกต่อจีดีพีมากน้อยเพียงใดในช่วงที่เหลือนี้

อย่างไรก็ตาม ADB คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 59 น่าจะโตได้ถึง 3.8% ซึ่งจะเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของประเทศอุตสาหกรรมหลัก อย่างเช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อภาคการส่งออก โดยประเมินส่งออกของไทยในปีหน้าจะปรับตัวเป็นบวกได้ และน่าจะเติบโตอยู่ที่ 3-4% ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ทั้งขนาดกลางทั่วประเทศ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ การลงทุนของภาครัฐน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น และส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชน ทั้งการขยายกำลังการผลิต หรือการลงทุนในรูปแบบอื่น ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับผู้ที่มีรายได้น้อย และธุรกิจ SMEs ก็น่าจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น

"ประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ EU และ ญี่ปุ่นในปีนี้มีการฟื้นตัวขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่โตมาก แต่ในปีหน้าเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวน่าจะเติบโตได้มากกว่าปีนี้ ซึ่งมองว่าจะส่งผลบวกต่อเอเชีย แต่ในปีนี้เอเชีย โดยเฉพาะจีนที่ถือได้ว่าเป็นพี่ใหญ่สุดมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และน่าจะเติบโตได้ 6.8% ทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจอื่นๆในประเทศเอเชีย จะเห็นได้จากการส่งออกที่ลดลง" น.ส.ลัษมณ กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามมีทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือเงินทุนไหลออก หลังมีการประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวอ่อนค่า ซึ่งจะเป็นโจทย์ของการดำเนินนโนบายทางการเงินของแต่ละประเทศว่าจะรับมืออย่างไร รวมถึงประเทศไทยเองด้วย ซึ่งอยู่ในท่ามกลาง GDP ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศนั้น ให้จับตาดูว่าการลงทุนภาครัฐว่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะล่าช้าออกไปหรือไม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ประกอบการหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะเพิ่มขึ้นไปอีกหรือไม่ และการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ