พาณิชย์เผยไทยพร้อมถกข้อตกลง TPP แต่รอฟังข้อดี-ข้อเสีย/ความเห็นทุกฝ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2015 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกรณีสมาชิก 12 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจทรานส์-แปซิฟิก(TPP) ว่า รัฐบาลไทยสนใจและจะเข้าร่วมเจรจาความตกลงดังกล่าวหากมีการเชิญชวน แต่ระหว่างนี้ต้องเตรียมความพร้อม โดยศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสีย และหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่สำคัญต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนเพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก คาดว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ประมาณปี 59 ดังนั้นในระหว่างนี้ ไทยยังมีเวลาศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด
"ที่ผ่านมา กระทรวงฯได้ติดตามความคืบหน้าของ TPP และศึกษาถึงผลดีผลเสียจากการเข้าร่วมเจรจา แต่เมื่อมี 12 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการแล้ว กระทรวงฯ ยิ่งต้องขอศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมอีก เช่น เรื่องรถยนต์ ที่มีรายงานว่าสหรัฐฯไม่ได้ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ให้กับญี่ปุ่นตามที่ญี่ปุ่นร้องขอ จึงยิ่งต้องทำให้ไทยเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น และไทยก็มีประเด็นอ่อนไหว เช่น เรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย ที่ผ่านมาสหรัฐฯมีท่าทีที่อ่อนลงในเรื่องนี้ หากไทยตัดสินใจจะเข้าร่วมก็น่าจะเจรจากันได้" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลไทยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอาจเป็นอุปสรรคในการเจรจานั้น น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศสมาชิกใดๆ ตั้งแง่ในเรื่องนี้

สำหรับมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศรวมกันมีสัดส่วนถึง 40% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐ และเวียดนาม โดยข้อตกลงเบื้องต้นกำหนดการเปิดตลาดการค้าทั้งสินค้าและบริการ กำหนดกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาล ห้ามรัฐบาลเลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทในประเทศกับต่างประเทศในการให้สัมปทานใหญ่ๆ กำหนดให้ปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน เพิ่มการคุ้มครองความลับทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ