(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.เชื่อมาตรการภาครัฐหนุน GDP ปี 59 โต 3.6-3.7% จากปีนี้ 2.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2015 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐประกาศในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในปีหน้า โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 59 เติบโตได้ราว 3.6-3.7% จากในปีนี้ที่น่าจะเติบโตได้ราว 2.7%

ขณะเดียวกัน มองว่าภาคการส่งออกของไทยในปีหน้าน่าจะฟื้นตัวได้จากปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวถึง 5% รวมทั้งด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมมาตรการเข้าไปอีก ธปท.ก็จะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจของปี 59 ใหม่อีกครั้ง

“หลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐออกมาปีนี้ น่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้ามากกว่า เราให้น้ำหนักไว้พอสมควร ปีหน้าเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.6-3.7% แต่ถ้ามีมาตรการใหม่ๆ ออกมาอีกเราก็จะมาทบทวนอีกครั้ง ส่วนปีนี้คาดโต 2.7%" นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่า ธปท.ยังกล่าวในการแถลงต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะที่น่ากังวล และเชื่อว่าสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อเศรษฐกิจได้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันลดลงมาก ซึ่งคาดว่าปีนี้ไทยจะเกินดุลสูงถึง 6% ของจีดีพี จึงถือว่ายังมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดี และแม้จะมีเงินทุนไหลออกบ้างแต่เมื่อเทียบกับตัวเลขการเกินดุลการค้าแล้วก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศของภาครัฐก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก เนื่องจากนักลงทุนที่เข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรธปท.เองก็มีเพียงแค่ 8-9% ของมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด

แต่ยอมรับว่าเป็นห่วงในแง่ของการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคชนบทที่เป็นกำลังสำคัญของการบริโภคในประเทศ รวมทั้งสินเชื่อครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจึงทำให้ภาคการบริโภคประเทศไม่ค่อยสดใสนัก

“เราได้อานิสงค์จากเรื่องราคาน้ำมันที่ลดลงและอีกด้านเราไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่องทำให้ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้นสบายใจได้ สภาพคล่องระบบการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง สินทรัพย์ส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ยังสูงแม้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่กระทบต่อสภาพคล่องระบบการเงินไทย ดังนั้นด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยจึงไม่น่ากังวล แต่ด้านที่กังวลคือเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

สำหรับมาตรการการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) วงเงิน 10,000 ล้านบาทนั้น ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ต้องมีมาตรการติดตามดูแลสินเชื่อให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เป็น NPL ซึ่งกระบวนการดูแลสินเชื่อไม่ใช่เฉพาะแค่การปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนเท่านั้น แต่ต้องติดตามให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการ ธ.อ.ส.ต้องไปพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์ การดูแลสินเชื่อ

การผ่อนปรนกฎเกณฑ์หรือกติกานั้นเป็นเรื่องที่ธนาคารเฉพาะกิจจะต้องดูแลว่าจะไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของธนาคารเองซึ่งเมื่อมีมาตรการผ่อนปรนสินเชื่อก็ต้องมีมาตรการติดตามสินเชื่อที่รัดกุมขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้สินเชื่อกลายเป็นหนี้เสียและเป็นภาระของธนาคารในอนาคต

"วงเงิน 10,000 ล้านบาทถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับยอดการปล่อยสินเชื่อของธ.อ.ส.ที่ 8 แสนล้านบาท หากมีปัญหาเชื่อว่าไม่กระทบสถานะของแบงก์อย่างมีนัย"

ส่วนจะต้องมีการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือไม่นั้น มองว่า ธ.อ.ส. เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จึงมีการกันสำรองที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่ได้ใช้เกณฑ์เดียวกัน ดังนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินเชื่อและความเสี่ยงเป็นหลัก ซึ่งธ.อ.ส.เองจะต้องดูแลภายหลังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียจนกระทบต่อฐานะของธนาคาร

“กระบวนการปล่อยสินเชื่อ หรือควบคุมคุณภาพสินเชื่อคงไม่ได้อยู่ในจุดที่ปล่อยเพียงอย่างเดียว แต่ถ้ามีการปรับปรุงเงื่อนไขก็ต้องแน่ใจว่ามีกระบวนการขั้นตอนในการติดตามที่เข้มข้นมากขึ้นด้วย" ผู้ว่า ธปท.ระบุ

ทั้งนี้ มองว่าภาวะในปัจจุบันต้องใช้นโยบายด้านอุปทานส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่ามาตรการของภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้นนั้นมาถูกทาง เพราะจะช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้ ขณะที่นโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อปัจจุบันแม้ว่าในระยะสั้นจะยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวคงต้องพึ่งพาด้าน supply side ประกอบกับ การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยาวนานเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้

ผู้ว่า ธปท.มองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากพิจารณาจาก New Normal แล้วจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่จะเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งแตกต่างจากที่มีการเติบโตค่อนข้างสูงในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีจากนี้ จึงต้องมีออกนโยบายเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตซึ่งการที่ภาครัฐมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพิ่มมากขึ้นนั้นถือเป็นการทำนโยบายด้านอุปทานที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นนโยบายที่มาถูกทางแล้ว

“ถ้ามอง New Normal ของเศรษฐกิจไทยมันจะค่อยๆ ลดต่ำลง ปัญหาในขณะนี้เป็นปัญหาด้านอุปทานมากกว่า ดังนั้นถ้าเราจะเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้นต้องทำนโยบายด้านอุปทานเพิ่มมากขึ้น...ด้านการส่งเสริมการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะการลงทุนของเราชะลอลงไป ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่คือโครงการลงทุนต่างๆ หรือการออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนนั้นเป็นการทำในทิศทางที่ถูกต้อง และช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้"ผู้ว่า ธปท.กล่าว

ผู้ว่า ธปท.กล่าวต่อว่า ในภาวะที่เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจไทยไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วงนั้น มีช่องทางที่จะทำนโยบายการเงินที่ช่วยเอื้อระบบเศรษฐกิจได้ และนี่คือสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จากที่ได้เห็นการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมาในปีนี้

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้นในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจไม่ต้องกังวล เพราะไม่มีความเสี่ยงแต่อาจมีความกังวลในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ดังนั้นเชื่อว่าจะสามารถใช้นโยบายการเงินให้เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ และขณะเดียวกันก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย ส่วนเศรษฐกิจในระยะกลางถึงระยะยาวนั้น มองว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายการเงินอาจเป็นแค่พระรอง แต่จะต้องใช้นโยบาย Supply side เข้ามาเป็นพระเอกแทน ขณะที่นโยบายการเงินก็จะต้องดูแลไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังคือเรามีภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมามากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเกิดผลกระทบในแง่ของเสถียรภาพได้เพียงแต่ในระยะสั้นไม่ต้องกังวลมาก แต่การที่ไทยมีภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนั้นอาจจะเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น การหาความเสี่ยงมากเกินควรในธุรกรรมการเงินบางประเภท รวมทั้งฐานเงินออมของประเทศหากดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำนานๆ

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินในปัจจุบันนั้น มองว่า หลายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนสูงกว่าสกุลเงินบาทของไทยมากเกินกว่า 2 เท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินของมาเลเซีย และค่าเงินของอินโดนีเซียซึ่งธปท.ได้ดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้ภาวะค่าเงินผันผวนเป็นปัจจัยที่มากระทบกับภาคเศรษฐกิจจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ