เงินบาทปิด 35.89/91 ลุ้นตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯคืนนี้ กรอบสัปดาห์หน้า 35.80-36

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 4, 2015 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.89/91 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.78/80 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าลงจากในช่วงเช้า เนื่องจากระหว่างวันมีแรงซื้อดอลลาร์เข้ามา หลังจากที่สกุลเงินอื่นๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากเหตุที่ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ได้ขยายระยะเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ไปถึงมี.ค.60 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในก.ย.59

สำหรับคืนนี้ คงต้องติดตามการประกาศข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ เช่น ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย. และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนต.ค.

นักบริหารเงิน คาดว่า สัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.00 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 122.78/80 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 122.68/70 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร เย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.0884/0887 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0908/0911 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,333.57 ลดลง 7.05 จุด (-0.53%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 34,717 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 493.48 ลบ.(SET+MAI)
  • นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แนะนักลงทุนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศในการวางแผนธุรกิจสำหรับปีหน้า จากนโยบายของยุโรปกับสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน (policy divergence) ชัดเจนขึ้น ทำให้เงินสกุลในภูมิภาคเอเชียมีโอกาสที่จะผันผวนมากขึ้นในปีหน้า และเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทาง
  • นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางยุโรป(ECB) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงว่า คงไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย และไม่ทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่ ECB ลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่า ในทางกลับกัน ตลาดน่าจะจับตามเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มากกว่า
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลต่อไทยจากการที่ธนาคารกลางยุโรป(ECB)ขยายช่วงเวลาการดำเนินมาตรการ QE ยาวนานขึ้น แต่ก็เป็นจังหวะเวลาทับซ้อนกับที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เตรียมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำให้คาดว่ากระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอาจต้องเผชิญกับภาพที่ผันผวนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การค้าต่างประเทศ โดยเน้นการปรับโครงสร้างทางการค้าและการเดินตลาดเชิงรุก พร้อมทั้งตั้งเป้าผลักดันการส่งออกในปี 59 ให้เติบโต 5% ซึ่งยอมรับว่าเป็นเป้าที่ท้าทาย โดยเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าจะดีขึ้นและการตั้งเป้าสูงไว้ก่อนน่าจะเป็นผลดี
  • นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปี 59 จะขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 3.8% เนื่องจาก 4 เครื่องยนต์หลักจะกลับมาทำงานได้ดีขึ้น ทั้งภาคส่งออกที่ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น อำนาจซื้อของคู่ค้าจะขยายตัวเป็นผลดีต่อส่งออกของไทย, การเร่งการลงทุนของภาครัฐ, การกระตุ้นการบริโภคของภาคประชาชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน
  • ตลาดหุ้นจีนจะเปิดใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ ในวันที่ 1 ม.ค.59 เพื่อควบคุมภาวะการซื้อที่ผันผวนอย่างรุนแรงในตลาด ทั้งนี้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และเสิ่นเจิ้น รวมทั้งตลาดอนุพันธ์ของจีนได้ออกกฎเกณฑ์ในการใช้กลไกดังกล่าวในวันนี้ ภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน
  • นายทาคาชิเดะ คิอูจิ หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มจะอยู่ที่ระดับ 2% ถึงแม้ว่าจะเป็นปีงบประมาณ 2560 ก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและอัตราการขยายตัวของเงินเดือนนั้นชะลอตัวลง โดยมองว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของ BOJ อยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
  • รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตัดสินใจเลื่อนการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ในวันนี้ โดยมาตรการฉบับดังกล่าวระบุถึงการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วางแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ