(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ พ.ย.ค่อยๆพื้นตัวจากใช้จ่ายหนุน,เร่งซื้อรถก่อนขึ้นภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2015 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน พ.ย.58 ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่องและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ส่วนหนึ่งได้รับผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในปีหน้า รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดี

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกถ่วงด้วยการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องจากผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำมีผลกดดันราคาสินค้าส่งออกหลายชนิด การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนจึงยัง อยู่ในระดับต่ำด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบตามราคาพลังงาน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงจากมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมที่ยังไม่เข้มแข็ง

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจในเดือนพ.ย.58 ได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญจากปัจจัยบวกชั่วคราวคือการเร่งซื้อรถยนต์ภายในสิ้นปี 58 ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตั้งแต่ ม.ค.59 เป็นต้นไป ซึ่งในจุดนี้อาจจะส่งผลให้ความต้องการซื้อรถยนต์ในช่วงต้นปีหน้าแผ่วลงบ้าง

“บางส่วนจะมีการเลื่อนการบริโภคมาปีนี้ โดยเฉพาะรถยนต์ อาจทำให้การซื้อในต้นปีหน้าจะแผ่วลง...แต่เราไม่มองว่าการบริโภคจะทรุดฮวบฮาบเมื่อหมดเรื่องภาษีสรรพสามิตในช่วงปีนี้”นางรุ่ง กล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า การช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือน พ.ย.โดยรายจ่ายภาครัฐขยายตัวร้อยละ 17.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งงบประจ และงบลงทุนที่ทำได้ดีต่อเนื่อง โดยรายจ่ายลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการด้านคมนาคมและชลประทาน นอกจากนี้ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ขณะที่การจัดเก็บรายได้ขยายตัวร้อยละ 24.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยเฉพาะในหมวดรถยนต์ และอีกส่วนหนึ่งสะท้อนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เพราะแม้รายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตรยังตกต่ำ แต่รายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องมีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน เมื่อประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นจึงส่งผลให้การบริโภคสินค้าไม่คงทนที่จำเป็นและการใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่ง และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก

สำหรับการใช้จ่ายสินค้าในหมวดคงทนปรับดีขึ้นร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อน แต่เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวที่ผู้บริโภคบางส่วนเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต โดยรวมการใช้จ่ายในหมวดดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ และคาดว่ายอดขายรถยนต์จะแผ่วลงบ้างในช่วงต้นปี 2559 หลังจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเริ่มบังคับใช้

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 6.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน และยังลดลงจากเดือนก่อนโดยเป็นการหดตัวทั้งด้านปริมาณและราคาเพราะ 1) เศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างจีนและอาเซียนยังคงชะลอตัว ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (G3) จะมีทิศทางปรับดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มแรกได้ 2) ราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับน้ มันได้รับผลกระทบจากราคาน้ มันในตลาดโลกที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดสินค้ายังขยายตัวดี อาทิ รถยนต์ที่มีการออกรถรุ่นใหม่และมีการส่งออก Eco-car ไปกลุ่มประเทศยุโรป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะสินค้าที่นำไปประกอบเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่

การส่งออกสินค้าที่ซบเซาส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้การผลิตรถยนต์เร่งขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้นบ้าง แต่หากหักปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งซื้อรถยนต์การลงทุนยังจำกัดอยู่เฉพาะในบางสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ ได้แก่ หมวดสื่อสารเพื่อรองรับการลงทุนขยายโครงข่าย 4G และการลงทุนในพลังงานทดแทน ส่วนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะธุรกิจยังคงมีกำลังการผลิตเพียงพอ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 8.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการนำเข้าเชื้อเพลิงหดตัวสูงจากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงหดตัวตามภาวะการส่งออกที่ยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนมีทิศทางปรับดีขึ้นตามภาวะการลงทุนที่กระเตื้องขึ้นในบางหมวด และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสำคัญ

นางรุ่ง กล่าวด้วยว่า จากการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าสินค้าให้มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักร ตลอดจนวัตถุดิบในการผลิตต่างๆ ซึ่งในแง่ของการลงทุนนั้น ผู้ประกอบการเองยอมรับว่าเรื่องต้นทุนก็มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน แต่ปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุนมากกว่านั้นมาจากเรื่องของดีมานด์

“การตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุน อาจจะไม่ใช่เรื่องต้นทุนในการนำเข้าเครื่องจักรเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของดีมานด์มากกว่า ถ้ามีดีมานด์ ก็ต้องยอมลงทุน แต่ตอนนี้ที่ไม่ลงทุน ไม่ใช่ว่าของราคาแพงขึ้น แต่เป็นเพราะยังไม่มีดีมานด์มากพอที่จะทำให้ลงทุนเพิ่ม”นางรุ่ง กล่าว

ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากหดตัวในช่วงก่อนหน้าเพราะเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย รัสเซีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นค่อนข้างซบเซาตามภาวะการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบที่ร้อยละ -0.97 จากราคาพลังงานที่ยังหดตัว สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นการไหลออกสุทธิในเดือนนี้จาก 1) การออกไปลงทุนในตราสารหนี้และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และ 2) การขายหลักทรัพย์สุทธิทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยเป็นผลจากคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ