ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองปี 59 ท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องจักรสำคัญ แต่มีความเสี่ยงระหว่างทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 15, 2016 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยปี 59 ยังเติบโตได้ แม้อัตราการเติบโตอาจจะชะลอลงมาอยู่ที่ตัวเลขหนึ่งหลักก็ตาม แต่ในด้านจำนวนก็ยังนับว่าเป็นตัวเลขที่สูง โดยคาดว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปีนี้จะมีจำนวนประมาณ 31.40-32.27 ล้านคน เติบโตประมาณ 5.0-8.0% เมื่อเทียบกับปี 58 (ที่ขยายตัวประมาณ 20.4%)

สำหรับแรงหนุนที่จะช่วยขับเคลื่อนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 59 มาจากบรรยากาศทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังเอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับแรงหนุนจากการทำกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการที่รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ หรือ Marina Hub ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งภาครัฐได้เร่งผลักดันการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ในจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวทางน้ำ อาทิ ภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายซื้อสูง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ อาทิ การแข่งขันของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างธุรกิจสายการบินโลก ที่มีการแข่งขันรุนแรงอย่างมาก โดย ณ ขณะนี้ ผู้ประกอบการสายการบินต่างชาติ เข้ามารุกตลาดในฝั่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตของการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้

โดยล่าสุด การขยายเส้นทางการบินของสายการบินทั้งสายการบินต้นทุนต่ำระยะไกลจากฝั่งยุโรป และสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะสายการบินจากประเทศทางภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ระดับต่ำ ทำให้ธุรกิจสายการบินยังสามารถแข่งขันด้านราคา และมีส่วนช่วยหนุนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย

ตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังเป็นตลาดหลักในการผลักดันการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวไทย โดยตลาดนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นตลาดหลักซึ่งมีสัดส่วนกว่า 60% ของตลาดรวม สำหรับทิศทางของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ดี โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเติบโต อันเป็นผลจากการทำการตลาดทั้งจากฝั่งผู้ประกอบการในประเทศจีนและชาวจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย เช่น บริษัทนำเที่ยวขยายตลาดเข้ามายังประเทศไทย และธุรกิจสายการบินของจีนขยายเส้นทางการบินมายังหัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของไทย นอกจากนี้

จากการที่ทางผู้ประกอบการจีนได้เข้ามาขยายฐานธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นนั้น ยังเป็นปัจจัยหนุนต่อที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังเติบโต อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ประเทศไทยน่าจะยังเป็นปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2559 ด้วยสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยที่มีจำนวนสูงกว่าเท่าตัวในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเริ่มต้นปี 59 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนต้องเผชิญกับปัญหาอีกครั้ง โดยปรับตัวลดลงรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่เปิดทำการซื้อขายวันแรกของปี 59 ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจจะมีผลต่อความมั่งคั่งของประชาชนบางกลุ่ม อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ (Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions: MICE) โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลที่ในปีที่ผ่านมีหลายองค์กรของจีนมีการจัดงานลักษณะนี้อย่างเข้มข้น ทั้งนี้ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนในปี 58 ที่มีจำนวนที่สูงเกือบถึง 8 ล้านคนนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการที่จะรักษาระดับจำนวนของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นในปี 2559 เนื่องด้วยนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนที่สูง ซึ่งหากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลงก็อาจจะมีผลต่อเป้าหมายการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 59 ได้

ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวหลักอื่นๆ อาทิ นักท่องเที่ยวกลุ่มมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากเป็นอันดับ 2 นั้น คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศปลายทางท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของมาเลเซีย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องมายังการท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังขยายตัวต่อเนื่อง

อีกหนึ่งแรงหนุน คือ ตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป โดยแนวโน้มของตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปในปี 59 นั้น น่าจะดีขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าภาพรวมนักท่องเที่ยวยุโรปจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ประมาณ 3.0% จากที่หดตัวประมาณ 8.7% ในปี 2558 ที่ผ่านมา โดยตลาดที่คาดว่าจะยังคงเติบโตในกลุ่มนี้น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากกลุ่มยุโรปใต้ เช่น สเปน อิตาลีและฝรั่งเศส เป็นต้น เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปตะวันตก เช่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักร เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559 ยังคงอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการเติบโต และมีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของไทย ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาภัยก่อการร้าย รวมถึงการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวได้กลายมาเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญในการที่จะใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว อาทิ นักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันออก และรัสเซียซึ่งน่าจะยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้

ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง คงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่จะกระทบความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และปัญหาความไม่สงบทั้งในและระหว่างประเทศ สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง แม้จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2.4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ค่อนข้างสูง โดยตลาดกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวเริ่มสะท้อนให้เห็นจากจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้บางประเทศชะลอลงในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 ที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่เน้นทำตลาดกลุ่มนี้คงต้องติดตามสถานการณ์และเตรียมตัวพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การดำเนินนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่จะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มนักท่องเที่ยวสันทนาการและกีฬานับว่าเป็นนโยบายที่ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อทริปที่สูง อย่างไรก็ดี เห็นว่าการที่จะดึงตลาดกลุ่มคุณภาพควรมีการวางตำแหน่งประเทศไทยให้ชัดเจน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานที่จะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ และเป็นการลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีแนวทางส่งเสริมและกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้กระจายไปสู่ชุมชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา การเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อให้เกิดโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงแต่โอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทยเท่านั้น แต่นักลงทุนจากต่างชาติซึ่งเห็นโอกาสของการทำตลาด ได้เข้ามาขยายการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวในไทย และในบางกรณีการเข้ามาทำธุรกิจของชาวต่างชาติได้ก่อให้เกิดการแข่งขันที่สูงต่อมายังผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ท่องเที่ยว และนำมาซึ่งประเด็นเรื่องของการทำธุรกิจที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยและบางกรณีก็มีผลต่อเนื่องมายังการกระจายเม็ดเงินไปสู่ชุมชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่อง โดยในเบื้องต้นทุกภาคส่วนควรมีการหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยหนึ่งในแนวทางแก้ไขเบื้องต้นอาจจะเป็นการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจต่างชาติที่เกี่ยวข้องในแนวทางการประกอบธุรกิจร่วมกัน

นอกจากนี้อาจจะมีการจัดตั้งสถานที่หรือศูนย์การค้าสำหรับสินค้าโอทอป (OTOP) ท้องถิ่นที่ได้มาตรฐาน หรือ ศูนย์การค้าสินค้าโอทอปแบบปลอดภาษี (Duty Free OTOP) หรือการรณรงค์ซื้อสินค้ากับร้านค้าที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องและให้นักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่คนไทยในแต่ละแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานของสินค้าและบริการด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ