(เพิ่มเติม) ก.เกษตรฯ-มท. แจงคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง 58/59

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2016 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่ง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 16,870 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 อ่างฯ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 3,489 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 สำหรับแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ทั้งประเทศ จำนวน 352,528 บ่อ มีปริมาตรน้ำ 182.10 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุทั้งหมด (ณ วันที่ 20 มกราคม 2559) และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้งประเทศ จำนวน 4,789 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 1,072.55 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุทั้งหมด (ณ วันที่ 21 มกราคม 2559)

นอกจากนี้ ยังได้รายงานความคืบหน้าผลดำเนินงาน 8 มาตรการ ภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้ง คือ มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการสร้างรายได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ ประมง และปรับปรุงดิน วงเงิน 1,009.07 ล้านบาท ซึ่ง ครม. เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 58 วงเงิน 971.98 ล้านบาท สำนักงบประมาณอนุมัติเงินงวด เมื่อ 9 ธ.ค. 58 มีเป้าหมาย 386,809 ราย ซึ่งเดือน ม.ค. 59 มอบปัจจัยการผลิตแล้ว 58,129 ราย คิดเป็น 15% คาดว่าอีก 75% จะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 59 นอกจากนี้ ยังลดค่าครองชีพ ภายใต้โครงการ “ธงฟ้า ช่วยภัยแล้ง" มีผลการจัดจำหน่ายสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 แล้ว จำนวน 199 ครั้ง ในพื้นที่ 20 จังหวัด มีมูลค่าการจำหน่ายรวม 21.51 ล้านบาท และลดภาระค่าครองชีพ 14.34 ล้านบาท ประชาชนเข้าร่วมงาน 71,684 คน

มาตรการที่ 2 ชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ ได้แก่ การลดค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าซื้อที่ดิน และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 22,613 ราย วงเงิน 60.23 ล้านบาท และการให้สินเชื่อเกษตรกร 61,369 ราย วงเงิน 1,213.02 ล้านบาท และประชาชน 10,078 ราย วงเงิน 818.38 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยแล้ว 630 ราย วงเงิน 109.25 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 72,077 ราย วงเงิน 2,140.65 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน

มาตรการที่ 3 การจ้างงาน โดยมีการจ้างแรงงานแล้ว 237,855 ราย แบ่งเป็น จ้างแรงงานชลประทานแล้ว 68,025 คน จ้างแรงงานเร่งด่วน 7,869 คน และจ้างงานจากเงินทดรองราชการของจังหวัด 161,961 คน นอกจากนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 58 ได้อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 58 และ 15 ธ.ค. 58 ได้อนุมัติกรอบวงเงิน โครงการฯ ระยะที่ 1 กรณีการปลูกพืชใช้น้ำน้อย วงเงิน 167.56 ล้านบาท จังหวัดได้โอนเงินให้ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) แล้ว 155 โครงการ วงเงิน 151.94 ล้านบาท และมติคณะกรรมการอำนวยการฯ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 59 ได้เห็นชอบโครงการตามแผนพัฒนาชุมชนฯ ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1 ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 3,135 โครงการ วงเงิน 1,614.0439 ล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 740,184 ราย

มาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ ได้จัดทำแปลงสาธิตแล้วจำนวน 37 แปลง ในพื้นที่ 9 ศูนย์ คิดเป็น 37% และการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ โดยกรมประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย สถานการณ์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

มาตรการที่ 6 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การปฏิบัติการฝนหลวง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจังหวัดนครสวรรค์ มีการขึ้นปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 จำนวน 66 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกรวม 11 จังหวัด การขุดเจาะบ่อบาดาล ดำเนินการเสร็จแล้ว 1,257 บ่อ และการทำแก้มลิง 30 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ และเลย ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุน้ำเก็บกักได้ 12.77 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 14,680 ไร่ เกษตรกร 6,030 ครัวเรือน

มาตรการที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยกระทรวงสาธารณาสุขออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และเจ้าหน้าที่สายตรวจลงพื้นที่ 30,488 ครั้ง

มาตรการที่ 8 การสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจชุมชน 11 กลุ่ม วงเงิน 9.30 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 45 สหกรณ์ วงเงิน 83.82 ล้านบาท

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีมาตรการต่างๆ ภายใต้การทำงานในรูปแบบ “ประชารัฐ" คือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส คุ้มค่า และตรวจสอบได้ ดังต่อไปนี้

1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) 2. มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 3. โครงการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และ 4. มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

นายชยพล กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในทุกโครงการเพื่อให้เม็ดเงินได้ลงไปถึงมือของประชาชนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้จังหวัดนำความต้องการของประชาชน เสนอเป็นโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/59 โดยนำแนวทาง “ประชารัฐ" ให้ทีมประเทศไทยในพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 กรณีพืชน้ำน้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ได้อนุมัติงบประมาณให้กับ 20 จังหวัด และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้โอนเงินให้จังหวัดแล้ว 155 โครงการ งบประมาณ 151,936,060 บาท ได้เริ่มดำเนินการแล้ว

ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอโครงการอีก จำนวน 3,135 โครงการ งบประมาณ 1,614 ล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ ได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงรายเชียงใหม่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พะเยานครราชสีมา นครพนม มหาสารคามขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุรินทร์ กาญจนบุรีสระแก้ว 71 อำเภอ 371 ตำบล 3,380 หมู่บ้านซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ระดมสรรพกำลังทุกหน่วยงานเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1. สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ รถผลิตน้ำดื่ม รถสูบส่งน้ำระยะไกล ฯลฯ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบปัญหาและจังหวัดที่ขอรับการสนับสนุนทั้งที่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและไม่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2. สูบน้ำไปยังแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 1,602,572 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 77,905 ไร่ ประชาชน 3,895 ครัวเรือน 3. แจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 4,512 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 626,751 ครัวเรือน 2,570,006 คน 4. เป่าล้างบ่อบาดาล จำนวน 17 จังหวัด จำนวน 3,137 บ่อ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ