บาทปิด 35.55/57 แกว่งแคบรอดูตัวเลขศก.สหรัฐ คาดกรอบพรุ่งนี้ 35.50-35.70

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2016 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.55/57 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.64 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และเริ่มแข็งค่าในช่วงท้ายตลาด โดยปัจจัยที่น่าสนใจสำหรับวันนี้ คือ รอดูสหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ในคืนนี้ ส่วนคืนพรุ่งนี้ต้องติดตาม ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือนม.ค.59 และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือนธ.ค.58 ของสหรัฐ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-35.70 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 117.73/76 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 118.02 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร เย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1164/1168 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1085 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,297.11 เพิ่มขึ้น 5.34 จุด (+0.41%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 39,843 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 838.86 ลบ.(SET+MAI)
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.59 อยู่ที่ระดับ 75.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนจากหลายปัจจัยลบ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับคาดการณ์ GDP ปี 59 มาอยู่ที่ 3.7% จากเดิมที่คาดไว้ 3.8%, การส่งออกของไทยในปี 58 ติดลบ 5.78%, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า ความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง
  • พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. เปิดเผยแนวโน้มธุรกิจทีวีดิจิตอล โดยยอมรับว่าทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง ไม่สามารถประสบผลสำเร็จทั้งหมด โดยคาดว่าจะมีอย่างน้อย 10 ช่อง ที่สามารถอยู่รอดและเป็นช่องทีวีในใจผู้บริโภคได้ โดยต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง เพราะมีหลายช่องที่กำลังต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดได้ ขณะเดียวกัน กสทช.ต้องช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยถึงการสำรวจ"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี" (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 4/58 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 40.5 ปรับขึ้นจากระดับ 34.2 หรือเพิ่มขึ้นมา 18.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่องและเป็นช่วงเทศกาล ซึ่งมีการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/58 ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความคึกคักและมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ 60.9% ยังมีความรู้สึกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัว
  • น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างปรับปรุง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นจะส่งกลับให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง หาก ครม.เห็นชอบก็จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ โดยขั้นตอนทั้งหมดน่าจะไม่เกิน 6 เดือน หรือบังคับใช้ได้ภายในปีนี้
  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของอังกฤษ (NIESR) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัว 2.3% ในปีนี้ และ 2.7% ในปีหน้า พร้อมระบุว่า แม้ว่าตลาดการเงินเผชิญกับความปั่นป่วนตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่การเติบโตของ GDP อังกฤษน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพ.ย. และนอกเหนือจากความปั่นป่วนจากตลาดการเงินแล้ว เศรษฐกิจอังกฤษยังได้รับผลกระทบด้านลบจากการชะลอตัวของการส่งออก หลังตลาดเกิดใหม่มีความต้องการลดลง
  • สมาคมผู้นำเข้ายานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์นำเข้าใหม่ในญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นที่ผลิตในต่างประเทศด้วยนั้น ลดลง 2.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี แตะ 20,373 คัน ส่วนยอดขายรถยนต์ต่างชาติปรับตัวลดลง 0.8% แตะ 17,045 คัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ของญี่ปุ่นร่วงลง 8.8% แตะ 3,328 คัน

เมื่อพิจารณาเป็นรายแบรนด์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ มียอดขายสูงสุดที่ 4,120 คัน ลดลง 9.6% และคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 20.22% ตามมาด้วย BMW ที่มียอดขายทั้งสิ้น 2,590 คัน เพิ่มขึ้น 18.5% และคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 12.71% ส่วนแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นนั้น ยอดขายนิสสันลดลง 30.2% แตะที่ 1,587 คัน ขณะที่ยอดขายของโตโยต้าปรับตัวลง 0.1% สู่ 989 คัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ