TMB คาดส่งออกม.ค.หดตัวต่อเนื่องที่ -6.5% ผลจากศก.จีน-ญี่ปุ่นชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2016 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics แนะนำจับตาตัวเลขการส่งออกของไทยในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวต่อเนื่องที่ -6.5% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างญี่ปุ่นและจีน ด้านกรอบค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.5 - 35.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงถ้าจีดีพีของสหรัฐฯ ออกมาแย่ในวันศุกร์ และคาดว่าผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 1.90-2.20% ในสัปดาห์นี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มีความเห็นว่า การรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในสัปดาห์นี้ จะเป็นประเด็นที่ตลาดต้องจับตา โดยเราคาดว่าการส่งออกของไทยในเดือนม.ค.59 จะหดตัวต่อเนื่องที่ -6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างญี่ปุ่นและจีนเป็นหลัก นอกจากนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามคือยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อน และจีดีพีไตรมาสที่ 4 ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่คาดว่าจะยังเป็นบวกที่ 0.5% ซึ่งน่าจะช่วยคลายความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ลงได้บ้าง

ด้านมุมมองตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐซื้อขายอยู่ที่ระดับ 35.50 - 35.70 บาท/ดอลลาร์ เกือบทั้งสัปดาห์ แต่ค่าเงินบาทกลับอ่อนค่าอย่างรวดเร็วไปที่ระดับ 35.78 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นวันศุกร์ โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากมาจากการเก็งกำไรว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลออกทั้งจากบริษัทต่างชาติที่จะแลกเงินกลับประเทศและบริษัทไทยที่ต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงสิ้นเดือนนี้ เรามองว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และแนะนำให้จับตาการรายงานตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ซึ่งถ้าภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้น ค่าเงินดอลลาร์ก็ไม่น่าจะสามารถปรับตัวขึ้นไปต่อได้ สำหรับสัปดาห์นี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะซื้อขายในกรอบ 35.55-35.85 บาท/ดอลลาร์

สำหรับมุมมองตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยังอยู่ที่ระดับ 1.74% (+0bps) ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.99-2.01% (-1bps) และดอกเบี้ยสวอป 10 ปี อยู่ที่ 2.26% (+4bps) ปัญหาหลักของตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกในขณะนี้ คือ เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำซึ่งกดดันอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกลางต่างๆ ของโลกเริ่มออกมาใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่สภาพคล่องยังล้นตลาด ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าตลาดบอนด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะสั้น แม้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นได้ถึง 0.3% ในเดือนม.ค. แต่ราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าน้ำมันเริ่มกลับมายืนเหนือระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรลได้อย่างต่อเนื่อง บอนด์ยิลด์ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยในช่วงสัปดาห์นี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 1.90-2.20%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ