ทูตฝรั่งเศส-นลท.ญี่ปุ่นเข้าพบ"สมคิด"แสดงความสนใจร่วมลงทุนโครงการที่มีศักยภาพในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 4, 2016 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังให้การต้อนรับนายฌีล การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยนำนายบรูโน่ เบซารด์ อธิบดีกรมธนารักษ์และอดีตผู้ตรวจการด้านการเงินฝรั่งเศส เข้าเยี่ยมคารวะ จากนั้นมีการหารือในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ

นายสมคิด ระบุว่า สองประเทศมีพลวัตอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ และในปีนี้ ไทยและฝรั่งเศสได้ดำเนินความสัมพันธ์ครบรอบ 160 ปี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและฝรั่งเศสยังมีศักยภาพในหลายด้าน เช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม การบิน เป็นต้น

นายสมคิด กล่าวขอบคุณฝรั่งเศสที่เชื่อมั่น และแสดงความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของไทยและไทยยังมีความมุ่งมั่นต่อนโยบายการค้าเสรี (FTA) ซึ่งขณะนี้ให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีในกรอบทวิภาคี โดยทราบว่าเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้ร่วมผลักดันเพื่อให้คณะกรรมการธิการยุโรปทบทวนและเปิดการเจรจาเขตเสรีทางการค้าไทย-สหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ในระดับเทคนิค ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี แสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุน และหวังว่าการเจรจาระดับเทคนิคจะได้เริ่มในโอกาสแรกเพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

นายสมคิด ยังกล่าวถึงภูมิภาคอาเซียนว่า ปัจจุบันได้รวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (AEC) และเป็นความร่วมมือหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบกับปัจจุบันยังมีความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมต่อทางคมนาคม รวมทั้งเศรษฐกิจ จึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสเข้าร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในอนาคตต่อไป ซึ่งทางฝรั่งเศสได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม

จากนั้นนายโนะริโอะ ยะมะกุจิ รองประธานสภาการแลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่น (International Friendship Exchange Council: FEC) และประธานคณะกรรมการการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-อาเซียนของ FEC ได้นำคณะเข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด โดยรองประธานสภาการแลกเปลี่ยนมิตรภาพญี่ปุ่นฯ ได้สอบถามเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคเอกชนญี่ปุ่น เช่น ในด้านการเกษตร ญี่ปุ่นต้องการทราบถึงแนวนโยบายของรัฐบาลต่อการการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งถือเป็น Primary industry ของไทย รวมถึงต้องการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องนี้

นายสมคิดย้ำว่า การพัฒนาภาคการเกษตรเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยเน้นการยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า ต่อยอดสินค้าเกษตรในท้องถิ่น รวมถึงเน้นการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร และ Bio Economy ที่อาศัยผลผลิตทางการเกษตรเป็นพื้นฐาน เพื่อสร้างสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่ประเทศไทยต้องการจากญี่ปุ่น คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยได้เปิดช่องทางให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่สนใจสามารถประสานงานได้โดยตรงกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ด้านพลังงาน ทางญี่ปุ่นมีความสนใจด้านพลังงาน รวมถึง แนวทางการพัฒนาด้านพลังงานของไทยในอนาคต ซึ่งเดิมไทยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ และปรับมาสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยแนวโน้มในอนาคต ไทยยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน แม้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะถูกลง เนื่องจาก ไทยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ในด้านเส้นทางรถไฟ ที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจและสอบถามเกี่ยวกับเส้นทาง ASEAN Economic Corridor รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การพัฒนาเส้นทางดังกล่าว ไม่เพียงแต่เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงเท่านั้น แต่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง พร้อมย้ำว่า เส้นทางด้านตะวันออก ผ่านระยอง/มาบตาพุด จะเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยและจะมีการยกระดับขึ้นไปอีกในอนาคต สำหรับเส้นทางสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองในอนาคตและอยากให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาเส้นทางนี้ให้มากขึ้น เพราะจะช่วยเกี่ยวกับการตัดสินใจด้านการลงทุนทางการค้าในอนาคตได้ โดยปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจ ล่าสุด ศรีลังกา ได้แสดงความประสงค์ที่จะเชื่อมโยงจากโคลัมโบสู่ทวาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางทะเลตลอดเส้นทางด้วย

ทั้งนี้ FEC ถือเป็นองค์กรเอกชนที่ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีสมาชิกจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำและหลากหลาย โดยในวันนี้ คณะจาก FEC ที่นำโดย นายโนะริโอะ ยะมะกุจิ ซึ่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ

นายสมคิด ระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ไม่น่าวิตกกังวล ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้ง พัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับ 1) อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตรและ Bio Economy 2) อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) อุตสาหกรรม Hi-tech 4) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Animation บันเทิงและดนตรี (entertainment)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ