(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก.พ.59 อยู่ที่ 85.1 จาก 86.3 ในม.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2016 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.3 ในเดือน ม.ค.59 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
"ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2 มีสาเหตุมาจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่ขยายพื้นที่ไปในวงกว้าง ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังไม่คลี่คลายและอยู่ในสภาวะเปราะบาง ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการขยายการลงทุน" นายสุพันธุ์ กล่าว

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 โดยปรับตัวลดลงจาก 100.8 ในเดือน ม.ค.59 โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการใน 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs, ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะมีรุนแรงและมีระยะเวลายาวนานต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือน ก.พ.คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้, ขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าเพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทย และให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล และการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่าน E-Commerce

นายสุพันธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เอกชนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างมากเนื่องจากอาจมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลดลงอีก และเชื่อว่าแม้แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็คงจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ซึ่งก็จะกระทบต่อการบริโภคของโลกที่ลดลงและจะสะท้อนมายังการนำเข้าและส่งออกสินค้าโดยรวม ขณะที่ภาวะภัยแล้งขณะนี้กลายเป็นสิ่งที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างมากดังนั้นรัฐบาลควรจะพิจารณาการแก้ปัญหาภาคเกษตรแบบยั่งยืนด้วยการเร่งลงทุนระบบน้ำซึ่งหากรัฐมีปัญหาด้านเม็ดเงินลงทุนก็สามารถชะลอการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้เพราะเห็นว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหากเทียบกับรถไฟระบบรางคู่ที่จะใช้ขนสินค้า

"รัฐทำหลายอย่างเพื่อกระตุ้นแรงซื้อ แต่เงินก็ไม่ถึงประชาชนรวดเร็วไม่เหมือนกับที่ผ่านมาได้แจกเงินถึงมือประชาชนแต่ก็เป็นประชานิยมทุกอย่างมีข้อดีและเสีย ขณะที่ใครเป็นรัฐบาลขณะนี้ก็ลำบากเพราะเศรษฐกิจทั้งในและนอกแย่หมดก็ต้องอดทนจนกว่าเงินจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่านี้ และหากดูภาวะภัยแล้งก็ฉุดแรงซื้อภาคเกษตรไปมากกระทบหมดจึงเห็นว่าระบบน้ำสำคัญมากที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มก็เข้าใจว่ารัฐเองกำลังพิจารณางบน้ำ 3.5 แสนล้านบาทอยู่แต่ก็อยากให้เร่ง"นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งในวันที่ 29 มี.ค.คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) จะมีรณรงค์ของภาคการผลิตและบริการส่วนของเอกชนลดใช้น้ำแต่ละรายลง 30% ในช่วงเม.ย.-มิ.ย. 59 และมีการสัมมนาเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการประหยัดน้ำ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ประหยัดใช้น้ำลง ทางกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ได้แจ้งไปยังค่ายรถกรณีศูนย์ซ่อมรถยนต์หากเป็นไปได้เมื่อลูกค้านำรถมาซ่อมถ้าขอความร่วมมือได้ก็ช่วยเจรจาไม่ต้องล้างรถหลังซ่อมเสร็จเพื่อเป็นการประหยัดน้ำช่วยชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ