BOI แจงนโยบายส่งเสริมลงทุนผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น พร้อมนำลงพื้นที่เขตศก.สร้างความเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 21, 2016 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดกิจกรรมนำคณะผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทย เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล

โดยบีโอไอได้จัดให้มีการบรรยายและตอบข้อซักถามต่างๆ เพื่อให้คณะผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นมีความเข้าใจถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายหลังได้ปรับรูปแบบการส่งเสริมลงทุนมาตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนที่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมของไทยพัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม มีการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต

ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะทำให้มีรูปแบบรองรับความต้องการของนักลงทุนในแต่ละกลุ่มหลากหลาย โดยปัจจุบันพบว่านโยบายต่างๆ ได้รับการตอบรับที่ดี การเดินสายจัดกิจกรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายทั้งในและต่างประเทศมีนักลงทุนจำนวนมากยืนยันที่จะลงทุนหรือขยายฐานการผลิตในไทยต่อไป

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอยังได้นำคณะผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นไปรับฟังข้อมูลการให้บริการของศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) และเข้าพบผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อรับฟังความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนเดินทางไปเยี่ยมชมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่จริงที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีการบรรยายสรุปภาพรวม และแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก อาทิ ระบบการขนส่ง การจัดหาแรงงาน ด่านศุลกากร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเข้าชมศักยภาพของงานด้านวิจัยและพัฒนาของอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) และศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่นในประเทศไทย รวมถึงเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี และระยอง เป็นต้น

"บีโอไอได้เน้นย้ำถึงความพร้อมรองรับการลงทุนในทุกด้าน ทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุน ระบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการให้ความสำคัญเรื่องอำนวยความสะดวก ซึ่งภายหลังการจัดกิจกรรมดังกล่าว มั่นใจจะทำให้ผู้สื่อข่าวเข้าใจถึงนโยบายและทิศทางของประเทศไทยในการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น และนำข้อมูลข้อเท็จจริงไปเผยแพร่ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์และชักจูงการลงทุน อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยต่อไป" นางหิรัญญา กล่าว

สำหรับการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีความสำคัญกับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 168 โครงการ เงินลงทุน 30,462 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ