(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.อยู่ที่ 73.5 ปรับลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 5, 2016 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 73.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.4

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 68.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.5

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งเป็นหลัก สำหรับปัจจัยลบอื่นๆ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลด GDP ปี 59 เหลือ 3.1% จากเดิมคาด 3.5% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณอ่อนแรงลง, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย, ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน, ภัยก่อการร้ายจากเหตุระเบิดในเบลเยี่ยม

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขส่งออกเดือนก.พ. +10.27% ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และกนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค.59 ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือน พ.ค.58 และโดยรวมยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาภัยแล้งคลี่คลายลง

“ปัญหาภัยแล้ง และการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่ามีรายได้น้อยลง ความเชื่อมั่นในอนาคตเริ่มหดหายไป หลังจากที่เคยมองว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะสดใสและน่าจะฟื้นได้ในครึ่งปีแรก แต่ตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มมีมุมมองต่อสถานการณ์ในอนาคตลดลง ว่าไม่โดดเด่น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจล่าช้าออกไป จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาดีในช่วงครึ่งปีแรก ก็กลายเป็นว่าน่าจะเป็นปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 ยังมีทิศทางที่เป็นขาลงต่อเนื่อง แต่หวังว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะฟื้นกลับมาได้เร็ว ถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้เป็นรูปธรรม ซึ่งหากทำได้เร็วจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นได้ และน่าจะปรับตัวได้เร็วสุดในเดือนพ.ค. แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งยังครอบคลุม ดัชนีความเชื่อมั่นอาจจะกลับมาดีขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจดัชนีความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ทางการเมือง กลับพบว่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ซึ่งดัชนีในเดือนมี.ค.นี้ ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.4 เมื่อเทียบกับในเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 88.5 โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ จากความเชื่อมั่นว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าไปตามโรดแมพที่วางไว้ รวมทั้งการเลือกตั้งจะยังมีขึ้นตามกำหนดภายในปี 60

“ดัชนีความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวเป็นทิศทางขาขึ้น เพราะมองว่ารัฐธรรมนูญน่าจะเดินหน้าต่อไปตามโรดแมพที่รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 60 ทำให้คนมองสถานการณ์ทางการเมืองในเชิงบวกทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้บริโภคมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่ใช่ตัวที่จะเป็นปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจ” ยธนวรรธน์ กล่าว

ขณะที่ มองว่ามีโอกาสมากขึ้นถึง 51% ที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% จากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวในระดับ 3.0-3.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังซึมและชะลอตัวลง การส่งออกในปีนี้ที่มีโอกาสจะติดลบ พร้อมกันนี้คาดว่าปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ประมาณ 60,000 – 120,000 ล้านบาท แต่คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายได้ราวเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. ดังนั้นการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งโครงการประชารัฐ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ ตลอดจนงบประมาณที่ช่วยเยียวยาปัญหาภัยแล้งนั้น โดยรวมแล้วคาดว่าจะมีวงเงินช่วยมาหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ราว 100,000 -150,000 ล้านบาท

“เม็ดเงินที่รวมกันจากโครงการประชารัฐ กระตุ้นใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ และงบแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมกันแล้วน่าจะทำให้มีเงินมาหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ราว 1 แสน – 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับการแก้ปัญหาภัยแล้งได้ แต่จากปัญหามูลค่าการส่งออกที่หายไป ซึ่งหากปีนี้ -2% เงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยา นอกจากจะได้เม็ดเงินจากโครงการเมกะโปรเจคท์เข้ามาช่วยในช่วงครึ่งปีหลัง” นายธนวรรธน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ