นายกฯ สั่งทุกกระทรวงทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีภายใน 4 พ.ค.นี้ เพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และงานเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 22, 2016 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/59 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกกระทรวงจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี แบ่งเป็นระยะละ 5 ปี โดยระยะแรกเริ่มปี 60-64 เพื่อกำหนดทิศทางการทำงาน เป้าหมาย และงานเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้มีแผนงานที่ชัดเจน ส่วนงานในระยะยาวให้นำไปบรรจุในแผนปฏิรูปประเทศ และให้ส่งแผนภายในวันที่ 4 พ.ค.นี้

"นายกฯ ย้ำว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทุกกระทรวงต้องตามโลกให้ทัน โดยสั่งการบ้านให้ทำแผน 20 ปีข้างหน้า อยากเห็นกระทรวงตัวเองเป็นอย่างไร ทำให้ทุกกระทรวงต้องปรับโครงสร้างการทำงาน และให้มีส่วนในการผลักดันให้ประเทศเข้มแข็ง ที่สำคัญ ทุกกระทรวงต้องอธิบาย ทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่ากำลังทำอะไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง"

ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้ออกปากชมศูนย์บริการประชาชนกระทรวงพาณิชย์ (MOC Service Center) ที่ได้รวมงานบริการต่างๆ ของกระทรวงมาไว้ที่เดียวกัน โดยประชาชนและผู้ประกอบการสามารถมาติดต่อเพียงที่เดียว แต่ขอรับคำปรึกษางานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ ยื่นขอจดทะเบียน และแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้หยุดการประชุม 15 นาที เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการมาดูศูนย์ฯนี้เป็นต้นแบบ และนำไปดำเนินการ

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอนายกฯ ขอให้สนับสนุนการเพิ่มอัตรากำลังคน เพราะหลังจากปรับโครงสร้างกระทรวง โดยรวมหน่วยงานในส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานเดียว (One Roof) ทำให้ขาดกำลังคนประมาณ 80 คน ซึ่งขอให้ช่วยพิจารณาให้ด้วย โดยจะขอเพิ่มภายในระยะเวลา 3 ปี และยังขอเพิ่มกำลังคนที่จะเข้ามาทำงาน หลังจากที่กฎหมายหลักประกันธุรกิจมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค.นี้ โดยต้องการ 90 คน เพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อน เพราะกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังขอการสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ เพราะต้นเดือนพ.ค.นี้ จะเสนอร่างพ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อควบคุมดูแลสินค้าที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และจะทำให้มีการกำหนดมาตรการเพื่อดูแลการส่งออกสินค้าที่นำไปใช้ได้สองทางได้รัดกุมมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ