รายงานกนง.ระบุยังต้องติดตามแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแรงขับเคลื่อนของศก.ในระยะต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2016 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.59 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ และในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นในบางช่วงเวลาเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งบางสกุล ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่ปรับลดลงซึ่งเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

"คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งยังเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ในยามจำเป็นที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจล่าช้ากว่าคาด แรงส่งจากการบริโภคที่อาจอ่อนแอต่อเนื่อง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาครัฐและเอกชน" รายงาน กนง. ระบุ

อย่างไรก้ดี คณะกรรมการฯ จะยังคงติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินจากพฤติกรรม search for yield และความไม่สมดุลระยะยาวอื่นๆ ที่อาจสะสมในระบบการเงินภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน นอกจากนี้ กรรมการส่วนหนึ่งประเมินว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้อาจมีผลบวกค่อนข้างจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ อีกทั้ง ธพ.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้ภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้น

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น มองว่าเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2559 ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าคาดว่ายังคงใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้

ด้านความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเบ้ไปด้านต่ำ จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจและภาคการเงินของจีน ความไม่แน่นอนและความแตกต่างของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก (monetary policy divergence) รวมทั้งความไม่แน่นอนของผลการลงประชามติเพื่อแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลก และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปผ่านช่องทางการค้าและการลงทุน

สำหรับภาวะตลาดการเงินนั้น ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโดยรวมปรับดีขึ้น เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในตลาดการเงินจีนลงบ้างในระยะสั้น ขณะที่ยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับสูงขึ้น และเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงจากการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเยน

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ปรับลดลงต่อเนื่องจากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศเป็นสำคัญ ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ปรับราบลงค่อนข้างมากจากช่วงต้นปี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ และเอื้อให้ภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายมากขึ้น

"ในระยะต่อไป monetary policy divergence ยังคงเป็นปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง อย่างไรก็ดี ความเข้มแข็งของเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ภายใต้ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น" รายงาน กนง.ระบุ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับประมาณการในการประชุมครั้งก่อน โดยการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงช่วยชดเชยผลกระทบจากการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่แผ่วลงกว่าคาดการณ์เดิม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้ฝนจะกลับมาตกตามฤดูกาลในช่วงกลางปีเป็นต้นไป แต่อาจเห็นผลกระทบจากภัยแล้งต่อฐานะทางการเงินของครัวเรือนภาคเกษตรไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงภัยแล้ง ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรส่วนหนึ่งต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น กอปรกับผลิตภาพการเพาะปลูกของที่ดินอาจลดลงในภาวะที่ฝนแล้งรุนแรง การบริโภคภาคเอกชนจึงยังคงมีปัจจัยถ่วง ในระยะข้างหน้า

"โดยรวมความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำมากขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน และต้องติดตามแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง" รายงาน กนง.ระบุ

แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มทรงตัว ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้นตามทิศทางที่เคยคาดไว้ แต่ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณอ่อนแรงลง

สำหรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นบ้าง จากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในภาคเกษตรและธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่มีแนวโน้มด้อยลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้า SMEs และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิต

นอกจากนี้ กรรมการส่วนหนึ่งมีข้อสังเกตว่า ต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าชั้นดีของธนาคารพาณิชย์ และความสนใจลงทุนในหุ้นกู้ของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่สะท้อนค่าความเสี่ยงที่แท้จริง จึงเห็นควรให้ติดตามและประเมินความเสี่ยงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ