ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 35.36 ระหว่างวันผันผวนสอดคล้องภูมิภาค คาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 35.20-35.80

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2016 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.36 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเล็ก น้อยจากเปิดตลาดเช้าที่ระดับ 35.34 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันผันผวนในกรอบระหว่าง 35.22-35.53 บาท/ดอลลาร์ จากกระแส ข่าวสหราชอาณาจักรทำประชามติว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่

"หลังเปิดตลาดเช้าแข็งค่าลงไปแตะ 35.22 ก่อนที่จะผันผวนตามข่าว Brexit อ่อนค่ามากถึง 1.3% โดยขึ้นไปถึง 35.53 ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับเข้ามา ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการเข้ามาดูแลของทางการหรือไม่ ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคผันผวนมากกว่า บาท ทั้งริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และวอน" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทในสัปดาห์หน้าไว้ที่ 35.20-35.80 บาท/ดอลลาร์

"แม้ตลาดจะคลายความกังวลลงบ้างแล้ว หลังเกิดความระส่ำระสายพอสมควร แต่ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยต้องจับตาดู ท่าทีของผู้นำยุโรปว่าจะมีมาตรการรองรับผลกระทบเพิ่มเติมหรือไม่" นักบริหารเงิน กล่าว

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 103.02 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 103.87 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1106 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 1.1203 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,413.19 จุด ลดลง 23.21 จุด, -1.62% มูลค่าการซื้อขาย 88,223.21 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 784.90 ล้านบาท (SET+MAI)
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุผลการทำประชามติของอังกฤษเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพ
ยุโรป (Brexit) เป็นสิ่งที่คาดคะเนไว้แล้วว่าวันนี้จะมาถึง และได้มีการหารือร่วมกันกับ รมว.คลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
  • นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เผยผลการลงประชามติของอังกฤษที่ตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิกของ
สหภาพยุโรปนั้น เบื้องต้นได้ส่งผลกระทบในระยะสั้นกับตลาดเงินและตลาดทุนของโลกตามที่กระทรวงการคลังคาดไว้ โดยในส่วนของ
ประเทศไทยค่าเงินบาทไม่ได้ผันผวนมาก ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงมากก็เป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่ถือว่าเกินความ
คาดหมาย ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมรับมือผลกระทบระยะสั้นของเรื่องนี้ไว้นานแล้ว
  • นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยการลงประชามติของอังกฤษในการแยกตัว
ออกจากสหภาพยุโรปในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบล่วงหน้ามาหลายเดือน ดังนั้น ธปท.และสถาบันการเงินจึงมีเวลาเตรียมการรับมือ
ไว้ล่วงหน้า โดยสถาบันการเงินในประเทศไทยได้ปิดความเสี่ยงฐานะเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว ต่างจากในช่วงวิกฤติการ
เงินโลกปี 2008 ที่มีการปิดสถาบันการเงินขนาดใหญ่ (Lehman Brothers) คราวนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ตลาดไม่ได้คาดมาก่อน จึงมี
ปฏิกิริยาของตลาดที่รุนแรงกว่าครั้งนี้มาก และในระยะข้างหน้าจะเห็นความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น ทุกฝ่ายจึงควรให้ความ
สำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
  • ธปท.ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยจากกรณีที่สหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสมาชิก
สหภาพยุโรปว่า ผลกระทบทางตรงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยผ่านช่องทางการค้าและความเชื่อมโยงของสถาบันการเงินคาดว่าจะ
ค่อนข้างจำกัด แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งภาวะความไม่
แน่นอนจากกระแสการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้น
ตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป
  • นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้จัดการประชุมในวันนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ เพื่อหารือร่วมกับ

ประธานคณะมนตรียุโรป ประธานรัฐสภายุโรป และนายมาร์ค รูทท์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นประธานหมุน

เวียนของ EU หลังผลการนับคะแนนในการลงประชามติของอังกฤษระบุว่า ฝ่ายที่สนับสนุนให้แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ชนะ

ฝ่ายที่ต้องการอยู่ใน EU ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะหารือจุดยืนของ EU ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปหลัวการลงประชามติครั้งนี้ ก่อนที่

การประชุมระดับผู้นำ EU จะมีขึ้นในวันอังคารหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ