กนง.ระบุ ศก.ไทยฟื้นรับแรงหนุนใช้จ่ายรัฐ-ท่องเที่ยว เกาะติดภาคบริการที่ทวีความสำคัญ-ตลาดโลกยังเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 6, 2016 10:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% โดยให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน และให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ตามที่ได้คาดไว้

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวได้แม้ธุรกิจบางกลุ่มยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ

อนึ่ง กรรมการบางส่วนเห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ ยังจะช่วยรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ในยามจำเป็นที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ความเสี่ยงในภาคการเงินจีน รวมถึงความเสี่ยงในกรณี Brexit ในระยะต่อไป

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศนั้น กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังคงเบิกจ่ายได้ดี และการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวได้มากกว่าที่คาด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้โดยมีการเติบโตของรายได้และการจ้างงานในภาคบริการเป็นแรงสนับสนุน รายได้เกษตรกรเริ่มฟื้นตัวตามราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพารา ประกอบกับปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย แต่กรรมการส่วนหนึ่งมีข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายที่สูงขึ้นอยู่ในหมวดการบันเทิงและนันทนาการที่อาจไม่ได้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้จ่ายส่วนหนึ่งในหมวดนี้สะท้อนการใช้จ่ายของคนไทยเพื่อท่องเที่ยวในต่างประเทศ จึงอาจไม่เอื้อต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากนัก กนง. จึงยังต้องติดตามประเมินความเข้มแข็งของการบริโภคภาคเอกชนต่อไป นอกจากนี้ กนง.เห็นว่ากิจกรรมเศรษฐกิจในภาคบริการจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศไทยการติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับการมีเครื่องชี้ด้านบริการมากขึ้นกว่าในอดีต

สำหรับการส่งออกสินค้ายังคงหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของโครงสร้างการค้าโลกชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชนจึงยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำแม้ได้รับผลดีบางส่วนจากการลงทุนของภาครัฐ สอดคล้องกับการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ยังคงมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ และการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาตามความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้งนี้ อัตราการใช้วงเงินสินเชื่อ ธพ. ที่ลดลงสะท้อนให้เห็นว่าการชะลอตัวของสินเชื่อ ธพ.อาจมาจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงเป็นหลัก

"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่เท่ากับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนที่ 3.1% โดยแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด ความสามารถในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนที่อาจน้อยกว่าคาดจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี ความกังวลด้าน ภัยแล้งลดลงหลังจากฝนเริ่มกลับมาตกตามฤดูกาล สำหรับในปี 2560 อุปสงค์ในประเทศคาดว่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้จากการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจคู่ค้า คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 เล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.2% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3.3%" รายงาน ระบุ

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2559 จะอยู่ที่ 0.6% และ 0.8% ตามลำดับ และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 สำหรับในปี 2560 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.2% และ 1.0% ตามลำดับ แต่อาจมีความไม่แน่นอนจากแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป

ด้านเสถียรภาพการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks) รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) และครัวเรือนที่มีแนวโน้มด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้า SMEs และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ต่อสินเชื่อรวมที่เริ่มปรับสูงขึ้นในสินเชื่อทุกประเภทการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

สำหรับภาวะตลาดการเงินนั้น ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะสั้นจาก Brexit เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 มีสัญญาณฟื้นตัวจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อภาคการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชีย ทั้งนี้ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเบ้ไปด้านต่ำ โดยปัจจัยเสี่ยงที่คณะกรรมการฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.เสถียรภาพของภาคการเงินจีน 2.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินโลกของผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ