เกษตรฯ นำร่องใช้ Agri-Map คัดเลือกพื้นที่นำร่องในชัยภูมิ-บุรีรัมย์-อุทัยธานี ปรับเปลี่ยนการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 15, 2016 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดปฏิบัติการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยใช้แผนที่ Agri-Map คัดเลือกพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และอุทัยธานี เนื่องจากมีชนิดของพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่หลากหลาย และมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ที่จังหวัดชัยภูมิ มีเกษตรกรเข้าร่วมการปรับเปลี่ยนกิจกรรม ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ภายใต้โครงการธนาคารโค–กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ) 2) การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นแปลงหม่อน 3) การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นบ่อเลี้ยงปลา และ 4) การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการมอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ได้แก่ กล้าไม้ผล พันธุ์หม่อน พันธุ์ปลา พันธุ์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดบำรุงดิน (เมล็ดปอเทือง) และกระบือด้วย

"เกษตรกรต้องมีความสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องมีปัจจัยในการสนับสนุน อาทิ พันธุ์ปลา โค-กระบือ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดเตรียมเสนอของบประมาณดำเนินการและกำลังจัดทำแผนระยะยาวต่อไป โดยหวังว่าจะเป็นการยกระดับให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง" พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ในปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ Agri-Map ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศและได้ส่งมอบและสื่อสารทำความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับจังหวัดแล้ว

ปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 130 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม จำนวน 16.67 ล้านไร่ ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนที่สูงมาก โดยในแผนที่ Agri-Map ได้นำเรื่องดินและน้ำมาใส่ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำการเกษตร และได้มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) การทำเกษตรในพื้นที่เหมาะสม รวมทั้งเหมาะสมในระดับปานกลางและดีมาก 2) การทำเกษตรในพื้นที่ไม่ค่อยเหมาะสม และ 3) การทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเลย

กระทรวงเกษตรฯ จึงได้บูรณาการการทำงานทั้งจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยมุ่งหวังจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนฯ เป็นแผนระยะยาว จำนวน 10 ปี โดยในปี 2559 - 2560 จะเร่งดำเนินการในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องดูถึงความต้องการทางการตลาดของสินค้าเกษตรประกอบด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ