ครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายผลักดันให้นิติบุคคลต้องยื่นภาษีออนไลน์ภายในปี 65

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2016 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ปรับปรุงบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ 2.การหักภาษีและนำส่งภาษีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3.การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และ 4.การนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

โดยเรื่องแรกเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ได้กำหนดให้มีการยื่นรายการภาษีและแบบแสดงรายการภาษีโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

"ปัจจุบันนิติบุคคลกรอกข้อมูลการนำส่งภาษีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 30% ซึ่งนโยบายนี้จะกำหนดให้นิติบุคคลต้องยื่นแบบชำระภาษีให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้หมดเลยภายในปี 65 โดยจะเริ่มจากนิติบุคคลรายใหญ่ก่อน และหลังจากนั้นค่อยขยับไป ซึ่งจะเปลี่ยนจากระบบที่ยื่นแบบกระดาษมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้การติดตามตรวจสอบภาษีทำได้ง่ายขึ้น" นายกอบศักดิ์ กล่าว

เรื่องที่ 2 การหักภาษีและนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) กำหนดให้เมื่อมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินด้วยระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารหรือบุคคลอื่นที่กำหนด ให้ผู้จ่ายเงินหักภาษีและนำส่งต่อธนาคารหรือบุคคลอื่นทันทีที่มีการจ่ายเงิน และให้ธนาคารหรือบุคคลอื่นมีหน้าที่รับเงินภาษีและส่งต่อให้กรมสรรพากร

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เมื่อมีการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศด้วยระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารหรือบุคคลอื่นที่กำหนดให้ผู้จ่ายเงินที่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อธนาคารหรือบุคคลอื่นที่กำหนดทันทีที่มีการจ่ายเงิน และให้ธนาคารหรือบุคคลอื่นมีหน้าที่รับเงินภาษีและส่งต่อให้กรมสรรพากรต่อไป

"เพื่อให้สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้สรรพากรได้ทันทีทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีความจำเป็นต้องรวบรวมส่งให้กรมสรรพากรในทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไปอย่างเช่นทุกวันนี้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

เรื่องที่ 3 การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Reciept) โดยกำหนดให้มีการจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งใบรับที่ออกให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อผู้จ่ายเงิน หรือผู้ชำระราคาในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

และเรื่องที่ 4 การนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้ธนาคาร ผู้ประกอบธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และบุคคลอื่นตามที่กำหนด นำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินหรือข้อมูอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับผู้มีหน้าที่เสียภาษีในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ