สนข.เตรียมเสนอโครงการระบบตั๋วร่วมเข้า ครม.เดือนนี้ ตั้งบริษัทบริหารดึงเอกชนร่วมทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 4, 2016 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.เตรียมนำเสนอโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่จะนำมาใช้ในระบบขนส่งมวลชนทุกประเภท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้ เพื่อเริ่มต้นเข้าสู่ขั้นตอนของจัดตั้งบริษัทที่ดำเนินการการบริหารจัดการรายได้ของตั๋วร่วม (Center Clearing House) และจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงการภาครัฐ (PPP) ซึ่งรูปแบบของบริษัทเบื้องต้นภาครัฐถือหุ้น 49% และเอกชนถือหุ้น 51% เพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่ในส่วนของการถือหุ้นของภาคเอกชนนั้นอาจจะมีการแบ่งสัดส่วนเปิดให้แต่ละบริษัทที่เข้ามาใช้ระบบได้มีโอกาสร่วมกันถือหุ้น

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการให้เอกชนเข้ามาใช้ในส่วนของระบบบริหารจัดการรายได้ ( Center Clearing House) หลังระบบได้ออกแบบเสร็จแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา สนข.ยังได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน และรถโดยสารสาธารณะ รวมไปถึงค่ายมือถือ และสถาบันทางการเงินที่สนใจเข้าร่วมเพื่อชี้แจงถึงตัวระบบที่จะนำมาดำเนินการจัดใช้แล้ว

ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้จะเริ่มกำหนดให้ทางภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมใช้ระบบศึกษาข้อมูล และปรับระบบของตนเองให้เข้ามาสู่ระบบ Center Clearing House ติดตั้งระบบอ่านบัตร

“ตอนนี้นับว่าอยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ Center Clearing House เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่เอกชนแต่ละรายต้องศึกษา จากเดิมที่แต่ละบริษัทก็จะมีระบบจัดเก็บราบได้ของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้เมื่อนำตั๋วร่วมมาใช้ก็ต้องปรับให้เป็นระบบเดียว รวมทั้งเรื่องการเปิดให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นบริษัท สนข.เข้าใจดีว่าแต่ละบริษัทจะต้องมีคำถามถึงการจัดเก็บรายได้ของตนเองแต่ต้องมาแบ่งให้เอกชนรายอื่นเป็นผู้บริหาร ดังนั้นแนวทางก็อาจจะนำเอาบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาใช้ระบบนั้นเข้ามาร่วมกันบริหารบริษัทจัดตั้งนี้ด้วย อย่างเช่น บริษัทที่บริหารระบบรถไฟฟ้าทุกรายก็มีประสบการณ์ แต่จะแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างไรคงต้องศึกษาก่อน"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้น สนข.ลงทุนวางระบบไปแล้วจำนวน 800 -900 ล้านบาท ดังนั้นแผนแรกที่อยากให้เริ่มใช้ตั๋วร่วมเลย คือการเริ่มนำเอาโครงการที่มีการกำหนดใช้ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์จัดเก็บรายได้อยู่แล้วมาเข้าระบบ ซึ่งจะนำร่องใช้ในส่วนของรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ก่อน เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงของบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รวมทั้งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนแผนระยะต่อไปก็จะนำโครงการมอเตอร์เวย์ รถขนส่งสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริการเรือด่วนต่างๆ และระยะยาวก็จะพัฒนาระบบของโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ให้รองรับระบบตั๋วร่วมทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ