ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 34.93 ระหว่างวันผันผวนก่อนกลับมาแข็งค่าจากช่วงเช้าหลังมีเงินไหลเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 4, 2016 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 34.93 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก เปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 34.99 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.91-34.99 บาท/ดอลลาร์ ตามทิศทางเงินทุนต่างประเทศ ขณะที่ค่าเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน

"วันนี้บาทค่อนข้างสวิง กลับมาแข็งค่าจากช่วงเช้าหลังมี flow ไหลเข้ามา แต่ยังอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้" นักบริหาร
เงิน กล่าว

ปัจจัยที่ตลาดจับตาดู ได้แก่ ช่วงค่ำพรุ่งนี้จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐ และสุด สัปดาห์จะมีลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 34.85-35.05 บาท/ดอลลาร์

"พรุ่งนี้น่าจะแกว่งตัวในกรอบรอดูปัจจัยจากต่างประเทศเรื่อง non-farm" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 101.36 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 101.11 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1125 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1136 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,507.93 จุด เพิ่มขึ้น 0.46 จุด, +0.03% มูลค่าการซื้อขาย 46,436.55 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,004.07 ล้านบาท(SET+MAI)
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.59 อยู่ที่
72.5 โดยเป็นการปรับดีขึ้นเป็นครั้งแรกของปี เนื่องจากปัจจัยเรื่องภัยแล้งคลี่คลายส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้
กำลังซื้อภาคครัวเรือนและภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
และรัฐบาลเร่งรัดการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่อ
เนื่องจากแรงส่งของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่รัฐบาลทยอยประกาศออกมาเป็นระยะ
จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง ปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายลงเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวแบบ
ค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนน่าจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ
แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากจากการที่อังกฤษออกจาก
การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความล่าช้าออกไปอีกและอาจก่อให้เกิดความ
ผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนในระยะสั้นได้ อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตรา
ดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควรต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
  • ธนาคารทหารไทย (TMB) ปรับลดเป้าสินเชื่อรวมปีนี้เหลือเติบโต 6-8% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่เติบโต 8-10% เนื่อง
จากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในครึ่งปีแรกเติบโตเพียง 2% ประกอบกับมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางที่ชะลอตัวอยู่ในครึ่งปีหลัง
ทำให้ความต้องการสินเชื่ออาจจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
  • บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบ
ใด ประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเม็ดเงินต่างชาติจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอก
มากกว่า ส่วนปัจจัยการเมืองจะส่งผลกระทบเพียงเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนในประเทศเท่านั้น
  • เงินปอนด์อ่อนค่าลงในวันนี้ ก่อนการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
0.25% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้
  • นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก ชี้เฟดควรมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหนึ่งครั้งภาย
ในปีนี้ โดยไม่ได้กำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าควรปรับขึ้นในการประชุมเดือนก.ย.หรือธ.ค. แต่หากเงินเฟ้อยังไม่มีการขยายตัว
จากระดับในปัจจุบันเฟดก็ไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ย
  • นายคิคุโอะ อิวาตะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยขณะนี้ BOJ ยังไม่ได้กำหนดวาระการประชุมเรื่อง

การประเมินนโยบายทางการเงินอย่างครอบคลุมลงในวาระการประชุมบอร์ดนโยบายครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ พร้อมกันนี้

ยังปฏิเสธข้อเสนอที่ว่า BOJ ควรจะใช้นโยบาย "helicopter money" ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่ทางธนาคารกลางสามารถนำมาใช้

ผ่านการจัดพิมพ์ธนบัตรจำนวนมากและเปิดช่องทางการปล่อยกู้ให้ประชาชนนำไปใช้จ่าย ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรงเพื่อผ่อน

คลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมและส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ