รมว.คมนาคม คาดเสนอผลศึกษาไฮสปีดเทนกทม.-เชียงใหม่เข้า ครม.ปลายปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2016 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานไทย-ญี่ปุ่น ในความร่วมมือการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ร่วมกับรองอธิบดีกรมการรถไฟของญี่ปุ่น ว่า ภายในเดือนพ.ย.นี้ ทางญี่ปุ่นจะส่งรายงานผลการศึกษาขั้นสุดท้ายได้ และสามารถนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ราวปลายปีนี้

จากผลศึกษาสำรวจเส้นทาง ทางญี่ปุ่นพบปัญหาใน 3 สถานี ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก โดยขอให้ไทยพิจารณาและตัดสินใจคือ 1.สถานีกลางบางซื่อ เรื่องแบ่งการใช้รางที่เหมาะสมกับรถไฟแต่ละระบบ เนื่องจากจะมีทั้งรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น, รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์, รถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถไฟทางไกล 2.สถานีดอนเมือง มีพื้นที่เขตทางจำกัด ทางญี่ปุ่นเสนอยกระดับรถไฟความเร็วสูง 3.สถานีอยุธยา มีประเด็นทางเทคนิคเรื่องการปรับรัศมีทางโค้งของรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น และรถไฟไทย-จีน ให้สอดคล้องกัน ซึ่งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปดูสภาพจริงและจัดสรรพื้นที่ให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้ทางญี่ปุ่นช่วยศึกษาการพัฒนาพื้นที่ภายในสถานี พื้นที่รอบสถานีและพื้นที่เมืองควบคู่ไปด้วย เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงมีการลงทุนสูงแต่ผลตอบแทนต่ำโดยญี่ปุ่นจะให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ช่วยศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับไทย และทำแผนพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับการพัฒนารถไฟอย่างไร โดยในเส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลกมีสถานีที่จะพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, นครสวรรค์ และพิษณุโลก ซึ่งจะสามารถดึงผู้โดยสารที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาป้อนระบบรถไฟความเร็วได้อีกด้วย

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ได้เสนอแนวคิดในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 193.50 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 152,528 ล้านบาท รวมถึงกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 165 กม.กรอบวงเงินลงทุน 94,673.16 ล้านบาท ซึ่งจะใช้รูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) โดยให้สิทธิ์เอกชนในการลงทุนก่อสร้างและทำระบบรถไฟ พร้อมสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ในสถานี พื้นที่รอบสถานี และพัฒนาเมืองไปด้วย จะมีความคุ้มค่าและจูงใจกว่า จากเดิมที่เคยจะแยกสัญญาสัมปทานพัฒนาพื้นที่รอบสถานีออกจากสัมปทานงานก่อสร้างและเดินรถ

"รูปแบบนี้จะคล้ายๆ กับรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง สีชมพู ที่ให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP 100% โดยรายใดที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุด ได้โครงการไป ซึ่งท่านนายกฯเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะการที่รัฐจะใช้งบหลายแสนล้านไปทำโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วขาดทุน จะอธิบายประชาชนไม่ได้ อีกทั้งจะต้องทำให้เห็นว่า หากรัฐต้องลงทุนรถไฟความเร็วสูง เมืองจะเกิดการพัฒนาอย่างไร โดยขอให้ไปดูตัวเลขรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ที่แท้จริง เป็นอย่างไร ซึ่งทางการรถไฟฯ จะต้องทำข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงการทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ด้วย" นายชัยวัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ