ธปท.พร้อมดูแลเสถียรภาพ-ยกเครื่องศก.ไทยในภาวะ New Normal ให้ก้าวผ่านความผันผวนของศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2016 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในสภาวะปกติใหม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในหลายด้าน โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำไปสู่สภาวะที่มีความผันผวนสูง (Volatility) มีความไม่แน่นอนสูงคาดเดาได้ยาก (Uncertainty) มีความซับซ้อนมากขึ้น (Complexity) และมีความไม่ชัดเจนของผลลัพธ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น (Ambiguous) หรือที่เรียกกันอย่างง่ายๆว่าเป็นภาวะ "VUCA"

"ในสภาวะเช่นนี้อาจเปรียบเศรษฐกิจไทยได้เหมือนเรือลำใหญ่หนึ่งลำที่กำลังเดินหน้าในทะเลกว้าง มีกระแสคลื่นจากเรือลำอื่น ๆ ที่แล่นไปข้างหน้า บางลำพยายามจะแล่นแซงเรา หรือบางลำแล่นตัดไปตัดมา นอกจากนี้เรายังต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีพายุต่างๆ เกิดถี่ขึ้น ด้วยขนาดที่รุนแรงขึ้น ภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้เรือเศรษฐกิจไทย อาจจะโคลงเคลงเป็นช่วงๆ และถ้าเราไม่สามารถเดินเครื่องเร็วพอแล้ว ก็อาจจะโดนคลื่นลมจากสภาพอากาศแปรปรวน และจากเครื่องยนต์ของเรือลำอื่นที่แล่นได้เร็วกว่าซัดให้เราถอยหลังกลับไปอยู่ที่เดิมได้" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง บทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยในสภาวะปกติใหม่ (New Normal) เมื่อวันที่ 2 ก.ย.59 ที่ผ่านมา

ธปท. จึงมีหน้าที่อย่างน้อยใน 2 มิติสำคัญ คือ 1.รักษาเสถียรภาพ (Stability) ของเรือไม่ให้ถูกกระทบจากสภาวะภายนอกรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคลื่นจากเรือลำอื่นที่ใหญ่กว่า แล่นเร็วกว่า หรือจากคลื่นลมที่เกิดขึ้นตามสภาวะภูมิอากาศ และ 2.ต้องมีหน้าที่ช่วยยกเครื่องเรือเศรษฐกิจไทย (Development) ในส่วนที่รับผิดชอบหลักไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ถ้าจะให้การเดินทางของเราไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงแล้ว ผู้โดยสารในเรือทุกภาคส่วนก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวพร้อมรับมือกับสภาวะปกติใหม่ด้วยเช่นกัน

นายวิรไท กล่าวว่า ระบบการเงินโลกในสภาวะปกติใหม่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ภาคการเงินไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะผลจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินนำสภาพคล่องส่วนเกินไปเร่งปล่อยสินเชื่อ หรือให้ประชาชนและนักธุรกิจ หันมาใช้จ่ายและลงทุนแทนการออม ซึ่งแม้ว่าอาจจะได้ผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่ก็จะกระทบกับโครงสร้างระบบการเงินซึ่งถูกออกแบบมาให้ผลตอบแทนของการออมต้องเป็นบวก และเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ลงทุน การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆ เช่นนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก นักลงทุนย่อมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นนี้ อาจทำให้สถาบันการเงิน ธุรกิจ และประชาชน ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่ง ได้เพิ่มวงเงินอัดฉีดสภาพคล่องโดยตรงเข้าสู่ตลาดทุน (หรือ QE) ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับสูงขึ้นและเกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนอยู่ในภาวะกล้าเสี่ยง (risk on) เงินทุนเหล่านี้ก็จะไหลมาสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น

"เราต้องไม่หลงคิดว่าเงินทุนเหล่านี้จะอยู่กับเราตลอดไป เพราะตลาดการเงินโลกอ่อนไหวต่อกระแสข่าวและข้อมูลใหม่ ๆ ที่ อาจจะชี้นำการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายการเงินของประเทศเหล่านี้ได้ สภาวะกล้าเสี่ยง(risk on) อาจจะเปลี่ยนเป็นสภาวะกลัวเสี่ยง (risk off) ได้รวดเร็ว นักลงทุนจึงพร้อมที่จะดึงเงินกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำแม้จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่ามาก" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกจากภาคการเงินแล้ว ภาคเศรษฐกิจจริงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายด้าน เช่น 1.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจีน จากการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจำนวนมากในอดีต มาเป็นการผลิตภายในประเทศครบทั้ง กระบวนการ รวมทั้งการลดบทบาทการลงทุนมากระตุ้นการบริโภค จนส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งโลกอยู่ในระดับต่ำ 2.ประเทศอุตสาหกรรมหลักย้ายฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมกลับไปยังประเทศของตน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ และต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เคยเป็นฐานการผลิตเดิม

3.หลายประเทศอยู่ระหว่างผลัดเปลี่ยนเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการมากขึ้น และเป็นภาคบริการสมัยใหม่ เช่น e-Commerce โลจิสติกส์ หรือธุรกิจเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 4.การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานพลังงานในโลก โดยมีการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การใช้น้ำมันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีแหล่งผลิตพลังงานประเภทใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น จึงเป็นแรงกดดันให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำ นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของหลายประเทศปรับลดลงรุนแรง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากด้านราคา เพราะราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลง ในกรณีของประเทศไทยนั้น แม้ว่าเราจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่จะเป็นฐานตลาดสินค้าที่สำคัญให้เราในช่วงของการปรับตัว อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ชะล่าใจว่าเราจะรักษาตลาดนี้ได้ตลอดไป เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้รวดเร็วในสภาวะปกติใหม่

"ในสภาวะปกติใหม่ เรือเศรษฐกิจไทยจะอ่อนไหวจากกระแสคลื่นลมภายนอกและโคลงเคลงได้ง่าย และสภาวะคลื่นลมก็จะมีลักษณะรุนแรงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพของเรือ จึงต้องทำหน้าที่หลายด้าน เพื่อลดผลกระทบจากคลื่นลมต่างๆ ให้ผู้โดยสารในลำเรือได้รับผลกระทบน้อยลง พร้อมทั้งพัฒนากลไกใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เรือเศรษฐกิจไทยรองรับแรงปะทะได้ดีขึ้น ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการยกเครื่องยนต์เรือของเรา เพื่อให้สามารถเดินเครื่องไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว เวลาที่เครื่องยนต์เรือของเรามีสมรรถนะสูง สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้เราก็จะรับผลกระทบจากคลื่นที่เกิดจากเรือลำอื่นน้อยลงด้วย" นายวิรไท ระบุ

สำหรับหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพเรือเศรษฐกิจไทยไม่ให้โคลงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้โดยสารนั้น เปรียบได้กับพันธกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งมีหน้าที่หลักอย่างน้อย 4 มิติ คือ มิติแรกต้องคอยตรวจตราเฝ้าระวังไม่ให้เรือมีรูรั่วหรือจุดเปราะบางจนจะเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพระบบการเงินทั้งระบบ มิติที่สอง ต้องพัฒนากลไกการออกนโยบายหรือมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (Macroprudential Policy) มิติที่สาม ต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ แบบมองไกลและรอบด้านให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับภัยใหม่ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ และมิติที่สี่ ต้องวางระบบเตือนภัยและสื่อสารกับคนในเรือให้เตรียมพร้อมระวังตัว รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้

นายวิรไท กล่าวว่ แม้ ธปท.จะรักษาเสถียรภาพหรือดูแลระบบรับแรงปะทะของเรือเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกับการยกระดับ สมรรถนะของเครื่องยนต์เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจที่เป็นผู้โดยสารเดินทางไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ และได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากความผันผวนภายนอก แต่ในสภาวะปกติใหม่ (New Normal) ผู้โดยสารจะวางใจไม่ได้และต้องมีหน้าที่ปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ตัวเองอีกด้วย เช่น 1.การเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงินที่จะต้องให้เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตและการทำธุรกิจสมัยใหม่ 2.หากมีการทำธุรกรรมข้ามประเทศ จะต้องเน้นการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

3. ประชาชนและผู้ประกอบการ ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมทันการณ์ โดยเฉพาะการตื่นตัวและป้องกันความเสี่ยงทาง Cyber อันเกิดจากช่องโหว่ของกระบวนการทำงานของสถาบันการเงิน และ 4.ธุรกิจและประชาชนพึงดูแลสุขภาพทางการเงินด้วยการวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ ในภาวะที่ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำนี้ ประชาชนต้องระมัดระวังไม่ใช้จ่ายด้วยเงินในอนาคต และต้องเตรียมความพร้อมด้วยการสำรองเงินออมให้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ในยามเกษียณอายุได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ