ครม.ไฟเขียวยุทธศาสตร์ชาติกระทรวงพาณิชย์ 20 ปี รองรับประเทศไทย 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2016 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติกระทรวงพาณิชย์ระยะ 20 ปี (2560-2579) เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเป็นประเทศไทย 4.0 โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2559-2564 ปฏิรูปการค้า เน้นปรับกฎหมายและวางระบบการค้า ระยะที่ 2 ปี 2565-2569 เป็นห่วงโซ่คุณค่าสำคัญของภูมิภาค เน้นพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถเป็นผู้นำตลาดภูมิภาค ระยะที่ 3 ปี 2570-2574 เน้นยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ค้าสำคัญของโลก และระยะที่ 4 ปี 2575-2579 เน้นสร้างศักยภาพของประเทศให้สามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ค้าหลักของโลก

สำหรับเป้าหมายที่สำคัญ คือ 1.สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ด้วยการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เช่น ส่งเสริมการสร้างมูลค่า ส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจการค้าภาคบริการ 2.สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ด้วยการผลักดันความเชื่อมโยงกับโลก โดยใช้อุปสงค์การค้าบูรณาการกับภูมิภาค 3.สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ด้วยการสร้างแรงยึดเหนี่ยวในระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศ โดยสร้างการค้าที่เป็นธรรม ทั่วถึง และยั่งยืน

นายณัฐพร กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์นั้น ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาผู้ประกอบการแบบครงวงจร โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องเพิ่มบทบาทการช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาความสามารถในการประกอบการด้านการค้าสินค้าและบริการแก่ผู้ประกอบการไทย ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบการค้าให้มีประสิทธิภาพ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงบริบทการค้าการลงทุนโลก ทำให้บทบาทในการควบคุมมีความจำเป็นน้อยลง ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องหันไปเน้นการกำกับดูแลและการอำนวยความสะดวกการค้า

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างบทบาทผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเศรษฐกิจการค้าจะทวีความซับซ้อนมากขึ้น มีการแข่งขันและเปิดเสรีมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรอบรู้ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความพอประมาณ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการกับระบบการค้าโลก โดยประเทศไทยต้องเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและการค้ากับประเทศในภูมิภาคอื่น โดยในภูมิภาคอาเซียนและเพื่อนบ้านจะเน้นการสร้างมาตรฐานร่วมเชื่อมโยงระบบขนส่ง และพัฒนนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ