KBANK หนุนใช้นโยบายการคลังกระตุ้น ศก.เสริมความมั่นใจเอกชนหลังการลงทุนยังต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 13, 2016 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารมองเห็นถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงการนำเข้าของไทยที่น้อยมาก แสดงถึงการลงทุนของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าเกิดจากความไม่มั่นใจของภาคเอกชนเกี่ยวกับแผนโรดแมพของประเทศไทย และการรอความชัดเจนต่างๆ ทั้งการเลือกตั้ง การลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐ และการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น คือ การใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติมออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี

ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ในการประชุมในวันพรุ่งนี้ และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับดังกล่าวไว้ที่ 1.5% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี อีกทั้งจะต้องดูแนวโน้มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียงครั้งเดียวในช่วงเดือน ธ.ค.59 หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 60 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 2 ครั้งในเดือน ก.ย.และ พ.ย.แต่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1.6% ทำให้ธนาคารสหรัฐฯมีโอกาสที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้มองว่ายังอยู่ในกรอบขยายตัว 2.5-3% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3/59 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3% โดยปัจจัยหนุนหลักยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐที่ยังช่วยเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามการคาดการณ์ แต่ยังมีปัจจัยกดดัน คือภาคการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับค่าเงินบาทนั้นธนาคารประเมินว่าสิ้นปีนี้อยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ และปีหน้าจะอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมินว่าค่าเงินบาท ช่วงนี้ยังผันผวนตามกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่โดยในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้จากเม็ดเงินที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ลดลงมาอยู่ที่ 7.4 แสนล้านบาท หรือลดลงไปมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่านักลงทุนต่าชาติมีการโยกเงินเข้าไปในตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ