พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินต่อผู้ต้องรับผิด โดยลงนามและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.59 นั้น เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่กระทำโดยสุจริตในการบริหารสต็อกมันสำปะหลัง จากโครงการแทรกแซงของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิตปี 51/52-55/56 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากโครงการแทรกแซงปี 51/52 เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายของภาครัฐที่จะมีเพิ่มขึ้น
"การออกคำสั่งดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐระบายสินค้าเกษตรในสต็อกรัฐบาล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เพราะจะได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย" ประธานบอร์ด อคส.กล่าวล่าสุด รัฐบาลมีมันเส้นในสต็อก 340,000 ตัน เสียค่าใช้จ่ายเก็บรักษาเดือนละ 50 ล้านบาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกราว 94,000 ตัน เสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 7 ล้านบาท และข้าว 8.4 ล้านตัน ค่าใช้จ่ายเดือนละ 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพ จึงต้องเร่งระบาย
พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวว่า สำหรับมันสำปะหลังเส้นในสต๊อกรัฐบาลนั้น อคส.ได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ทุจริต เช่น เจ้าของโกดัง บริษัทตรวจสอบคุณภาพ (บริษัทเซอร์เวย์) รวม 108 คดี เพราะสินค้าสูญหาย โดยมันเส้น หาย 536 ล้าน กก. ความเสียหาย 3,700 ล้านบาท และแป้งมัน สูญหาย 46 ล้านกก. มูลค่า 654 ล้านบาท รวม 4,362 ล้านบาท พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 75 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่ อคส. 15 เรื่อง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่อคส. 3 เรื่อง
ด้านนายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในคำสั่งมาตรา 44 กำหนดให้กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง กรณีที่หน่วยงานรัฐมีคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่ง หรือศาลมีคำพิพากษา ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49-56/57 โครงการแทรกแซงมันสำปะหลังปี 51/52-55/56 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่ง หรือคำพิพากษานั้น จะรวมถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะส่งหนังสือบังคับทางปกครองไปยังผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 6 ราย เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐ โดยกรมบังคับคดีจะเป็นผู้มีอำนาจยึด หรืออายัดทรัพย์ และขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาคืนรัฐ