(เพิ่มเติม) นายกฯ ชูรสก.ขับเคลื่อนการลงทุน แนะกำหนดโรดแมพหนุนพัฒนาประเทศ-GDP ขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2016 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในการมอบนโยบายในการสัมมนาเสริมสร้างความรู้และธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจว่า ขณะนี้เอกชนยังไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุนมากนัก เพราะห่วงเรื่องการตลาด ซึ่งรัฐบาลก็เข้าใจ ดังนั้นรัฐวิสาหกิจต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุน ขณะที่รัฐบาลพยายามช่วยขจัดอุปสรรคที่มีอยู่ให้หมดไป

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจต้องพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ที่มีอยู่

"การใช้อำนาจพิเศษเพื่อขจัดอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาล่าช้า โดยคำนึงถึงความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามมาในภายหลัง ยืนยันว่าไม่เอาเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง หากใครทำผิดก็ว่ากันไปตามขั้นตอนของกฎหมาย" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า แนวทางการบริหารรัฐวิสาหกิจควรกำหนดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้จัดทำเสร็จแล้ว เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

"รัฐวิสาหกิจทุกองค์กร จะต้องพัฒนาตัวเองให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่โยนภาระให้พ้นตัวเอง โดยนำปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมาประกอบการพิจารณาวางแผนในการทำงาน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ครบวงจร...ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่จะทุกองค์กรจะกำหนดโรดแมพของตัวเองได้ วันข้างหน้าชาวบ้านก็รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะได้ไม่มีปัญหา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวย้ำว่า รัฐวิสาหกิจทุกแห่งมีความสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ยังขาดทุนจะต้องสร้างกำลังใจในการทำงานให้องค์กรเกิดความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศชาติ

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจคาดว่าปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 3% เป็นผลจากการทำงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากไม่ได้ทำอะไรเลยคงไม่ดีเท่านี้เพราะมีปัจจัยลบหลายเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นบทพิสูจน์การทำงานของตนเองที่ถูกมองว่าเป็นทหารแล้วจะไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย สะท้อนได้จากรัฐวิสาหกิจมีทรัพย์สินรวมประมาณ 13 ล้านล้านบาท มูลค่าเท่ากับ GDP ของประเทศ และมีงบลงทุนคิดเป็น 50% ของการลงทุนภาครัฐ

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 60 ซึ่งมีวงเงินลงทุนประมาณ 520,980 ล้านบาทให้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เลื่อนการลงทุนเร็วขึ้น (Front Load) โดยขอให้เน้นการเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 60 ให้มากขึ้น และขอให้เร่งรัดให้เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนดที่ 95% ของงบลงทุนอนุมัติ

อีกทั้งให้ผลักดันรัฐวิสาหกิจให้นำโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพมาระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและช่วยให้การบริหารหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รวมทั้ง เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) เพิ่มขึ้น หากมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้รีบดำเนินการเสนอสภานิติบัญญัติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

และยกระดับความโปร่งใสในการบริการจัดการรัฐวิสาหกิจด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบกำกับและตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ประชาชน และประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact)

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐวิสาหกิจในระยะยาว รัฐบาลได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... โดยหลักการสำคัญ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นคณะกรรมการภายใต้กฎหมาย และกำหนดให้แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการมีกลไกสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบ โดยเปิดเผยข้อมูลการดำเนินนโยบายผ่านรัฐวิสาหกิจให้เกิดโปร่งใส (Transparency) และทำให้เกิดความรับผิดชอบ (Accountability) ในการดำเนินนโยบาย

นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 60 สคร.จะดำเนินงานในฐานะผู้ภือหุ้นเชิงรุก (Active Shareholder) พร้อมทั้งจะเพิ่มบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนแห่งความสำเร็จ (Active Partnership) โดย สคร. จะทำงานร่วมกับกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ