(เพิ่มเติม) SCB EIC ปรับประมาณการณ์ GDP ปี 59 ขึ้นเป็นโต 3% จากเดิม 2.8% ก่อนโต 3.3% ในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 13, 2016 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 3% จากเดิม 2.8% หลังจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีการขยายตัวได้ถึง 3.4% จากการที่ภาครัฐเร่งเดินหน้าลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น

ขณะที่ในปี 60 SCB EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% เป็นผลจากการที่ภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 59

พร้อมกันนี้ คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่า โดยในช่วงปลายปีนี้เงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนปี 60 เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ได้

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด SCB EIC กล่าวว่า อีไอซีได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 59 เพิ่มขึ้นเป็น 3% จากเดิมที่ 2.8% เพราะตัขเลข GDP ในช่วงครึ่งปีแรกที่ออกมาดีกว่าคาดที่ขยายตัวได้ถึง 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปัจจัยบวกชั่วคราว เช่น มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่ช่วยเร่งให้เกิดการก่อสร้าง การเร่งใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล และการกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของค่ายรถต่างๆ โดยมีการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีมาตลอดซึ่งเป็นอีกแรงสนับสนุนหลัก

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกที่ดีจะมาจากปัจจัยบวกชั่วคราว ก็ยังไม่เอื้อต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ในทางกลับกันยังมีการแสดงสัญญาณของการชะลอตัว โดยในส่วนของภาคธนาคารพาณิชย์ในประเทศไนแง่ของสินเชื่อโดยรวมยังคงชะลออยู่ และมีทิศทางของหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของทางผู้บริโภคและนักลงทุนก็ยังลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ การที่มีแรงหนุนจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นลดน้อยลงในช่วงครึ่งปีหลังส่งผลต่อการใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรกกลับมาชะลอลง โดยเฉพาะไนในไตรมาส 3/59 เช่น การเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำและดัชนีการก่อสร้างภาคเอกชน

"การขาดหายไปของปัจจัยหนุนดังกล่าว ประกอบการภาคการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้คงจะยังไม่ได้มีการฟื้นตัวขึ้น เพราะเศรษฐกิจในต่างประเทศยังคงชะลอตัวอยู่ ซึ่งคาดการณ์ว่าตัวเลขภาคการส่งออกไทยในปีนี้จะติดลบ 2.1% ทำให้การขยายตัวครึ่งปีหลังอาจไม่สูงเท่าครึ่งปีแรก โดยคาดการณ์ GDP ของไทยในครึ่งปีหลังขยายตัวระดับ 2.6%"นางสาวสุทธาภา กล่าว

ส่วนภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่ายังมีความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศยังต้องติดตามเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะมีผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าและออก และสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นไทยได้

ขณะที่ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 60 จะขยายตัวได้ 3.3% หลังภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังมาตรการชุดเก่าเริ่มมีประสิทธิภาพลดลง เช่น มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย และมาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐ

และในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกใหม่รออยู่ เช่น มาตรการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 60 ที่จะลดลง การหมดภาระของการผ่อนชำระรถยนต์ของโครงการรถคันแรก และการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากซบเซามานาน นอกจากนี้ยังคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 60 มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ที่ 1.5% เพราะแนวโน้มราคาน้ำมัและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นช่วยหนุน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงรอบด้าน โดยกำลังซื้อภาคเอกชนยังคงถูกกดดันจากสภาวะตลาดแรงงานที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งประเมินว่าความเสี่ยงด้านกำลังซื้อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวได้อย่างจำกัด และความอ่อนไหวต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ขณะเดียวกันความเสี่ยงจากภายนอกมีเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ถูกกดดันด้วยปัญหาหนี้ และความเสี่ยงทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลายภูมิภาค

ด้านสถานะการเงินระหว่างประเทศของไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดเงินได้ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอยู่ที่ 1.5% ไปจนถึงปลายปี 60

ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค โดยคาดว่าสิ้นปีนี่ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์ และปลายปี 60 อยู่ที่ 37.00 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ