(เพิ่มเติม1) คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้าง สิ้น ก.ย.59 อยู่ที่ 42.73% ต่อจีดีพี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 21, 2016 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ 30 กันยายน 2559 มีจำนวน 5,988,386.53 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.73% ของ GDP โดยแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล จำนวน 4,471,220.22 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 994,794.29 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 500,054.33 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 22,317.69 ล้านบาท

โดยในส่วนของหนี้รัฐบาล จำนวน 4,471,220.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิเล็กน้อย 48,731.69 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 994,794.29 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,138 ล้านบาท

ด้านหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 500,054.33 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 7,579.29 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 3,580.48 ล้านบาท และของธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 3,000 ล้านบาท

สำหรับหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 22,317.69 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 958.51 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1,101.02 ล้านบาท

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 จำนวน 5,988,386.53 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 5,641,948.33 ล้านบาท หรือ 94.21% และหนี้ต่างประเทศ 346,438.20 ล้านบาท (ประมาณ 10,083.40 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 5.79% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,177,746.27 ล้านบาท หรือ 86.46% และหนี้ระยะสั้น 810,640.26 ล้านบาท หรือ 13.54% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

“จากสถานการณ์หนี้สาธาณะในปัจจุบันที่ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ทำให้ยังมีช่องว่างทางการคลังเหลือเพียงพอที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่าย รวมถึงให้รัฐบาลสามารถกู้เงินลงทุนในโครงการลงทุนสำคัญที่รัฐบาลกำลังมีแผนดำเนินการในปีหน้า โดย สบน. ประเมินว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 60 สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 45.5% คิดจากมูลค่าจีดีพีในปี 59 ที่ 14.6 ล้านล้านบาท โดยหากมีการปรับประมาณการจีดีพีใหม่อีกครั้งก็จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป" นายธีรัชย์ กล่าว

อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ 60 มีการประเมินว่าจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้ 2.2 แสนล้านบาท โดยเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการไปแล้วคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 60-70% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นการเบิกจ่ายตามงวดงาน ส่วนที่เหลือจะเป็นการเบิกจ่ายของโครงการที่เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ