อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ คาดประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมแล้วเสร็จปี 60 แม้ร่าง กม.ยังล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 22, 2016 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดหวังว่าการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุในปี 65-66 นั้นจะมีความชัดเจนภายในปี 60 และจะยังคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้เข้ามาดำเนินการได้ภายในเดือน ต.ค.60 แม้อาจต้องเลื่อนเปิดประมูลเป็นในช่วงเดือน พ.ค.60 จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดประมูลในเดือน มี.ค.60 หลังการแก้ไขร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยังไม่แล้วเสร็จ

ล่าสุดกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ... และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในประเด็นคำจำกัดความของคำว่า "จ้างสำรวจและผลิต" เป็น "จ้างบริการ" ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วนรอบคลุมมากกว่านั้น ซึ่งกรณีการแก้ไขหลักการดังกล่าวจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหาก ครม.รับข้อเสนอให้มีการแก้ไขหลักการก็จะต้องถูกนำกลับมาพิจารณาใน สนช.อีกครั้ง แต่หาก ครม.ไม่รับข้อเสนอให้มีการแก้ไขหลักการ จากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระ 2 และ 3 ต่อ ซึ่งคาดว่าคงจะใช้เวลาไม่นาน

"การประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งน่าจะมีความชัดเจนภายในปี 60 แม้ว่าจะเลื่อนจากเดิมที่คาดว่าจะสามารถเปิดได้ภายในเดือนมีนาคม 60 อาจเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 60 และคาดว่าจะสามารถสรุปรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือนตุลาคม 60 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผู้ประกอบการรับได้ และสามารถวางแผนผลิตได้ทัน"นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า หากผู้ได้รับสัมปทานรายเดิมชนะการประมูล ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการผลิตเพราะสามารถผลิตได้ต่อเนื่องภายใน 3 ปี แต่หากเป็นผู้ผลิตรายใหม่คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 5 ปีที่การผลิตปิโตรเลียมจะกลับขึ้นมาได้ในระดับเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธิที่จะขอลดสัดส่วนการผลิตจากปริมาณซื้อขายตามสัญญาได้ ในช่วงใกล้จะหมดอายุสัมปทาน

ทั้งนี้ หากการประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งเสร็จสิ้นในปี 60 การดำเนินงานก็จะเป็นไปตามแผนโดยกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ และบงกช จะลดลงจากเดิม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน เป็น 1,500-1,800 ล้านลบ.ฟ./วัน จนถึงปี 79 แต่หากการประมูลไม่ทันปี 60 กรณีเลวร้ายสุดจะทำให้ปริมาณก๊าซฯในปี 63-64 ลดลง 40-50% และการผลิตในปี 64-65 จะเหลือการผลิตก๊าซฯจากทั้ง 2 แหล่งแค่ 300 ล้านลบ.ฟ./วันเท่านั้น

"การวางแผนผลิตก๊าซต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี จึงต้องการประมูลเสร็จสิ้นในปี 60 หากไม่เสร็จเอกชนก็วางแผนผลิตไม่ได้กำลังผลิตก็จะน้อยลง หากรายเดิมได้สิทธิดำเนินการต่อก็จะผลิตได้เร็ว แต่หากได้รายใหม่ ก็จะล่าช้าไปอีก 2 ปี และต้องมาเจรจาเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตที่มีกว่า 330 แท่น ว่าจะดำเนินการอย่างไรอีกด้วย"นายวีระศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ