"ทีซีซี แลนด์"กางแผน 10 ปีสยายปีกศูนย์การค้าใน-ตปท.ตั้งเป้า 29 โครงการเพิ่มพื้นที่แตะ 6.5 แสนตร.ม.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 25, 2016 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มไลฟ์สไตล์ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในการก่อสร้างโครงการศูนย์ค้าปลีกในช่วง 5-10 ปี (ปี 60-69) อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ไม่รวมงบซื้อที่ดิน แบ่งเป็นการลงทุนโครงการในกรุงเทพฯและปริมณฑล 2 หมื่นล้านบาท และต่างจังหวัด 2 หมื่นล้านบาท

พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เช่าภายในปี 69 เป็น 650,000 ตารางเมตร จากปัจจุบันมีพื้นที่เช่าทั้งหมด 170,000 ตารางเมตร โดยจะมีจำนวนศูนย์ค้าปลีกทั้งหมด 29 โครงการ จากปัจจุบันมีศูนย์ค้าปลีกทั้งหมด 8 โครงการ 5 แบรนด์ ได้แก่ โครงการเอเชีย ทีค เดอะ ริเวอร์ ฟร้อนท์, ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่, ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ และโครงการบ็อคซ์ สเปช รัชโยธิน

บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 69 แตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% จากปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 2 พันล้านบาท โดยปี 60 รายได้น่าจะเพิ่มเป็น 2.3 พันล้านบาท ซึ่งการที่บริษัทมีรายได้ในระดับหมื่นล้านบาทและมีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นเป็น 650,000 ตารางเมตรภายในปี 69 จะผลักดันให้ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของบริษัทก้าวขึ้นสู่ 1 ใน 3 ของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่สุดของประเทศทั้งในแง่ของรายได้และจำนวนพื้นที่เช่า จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 4

นายณภัทร กล่าวว่า การลงทุนในกรุงเทพฯปัจจุบันอยู่ระหว่างวางแผนขยายท่าเรือเป็น 3 ท่าในโครงการเอเชีย ทีค เดอะ ริเวอร์ ฟร้อนท์ ซึ่งจะเป็นท่าเรือที่ยาวที่สุดที่สามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกันถึง 2 ลำ และปรับพื้นที่รองรับการจอดเรือท่องเที่ยว Dinne Cruise คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 60 อีกทั้งจะมีการเปิดเส้นทางการให้บริการเรือโดยสารรับ-ส่งมาที่โครงการเพิ่มเติม อย่างเช่น จากท่าเรือวังหลังและท่าเรือท่าเตียน หรือท่าเรือที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา จากปัจจุบันที่มีให้บริการเพียงท่าเรือสาทรเท่านั้น

ส่วนโครงการเกตเวย์ที่ปัจจุบันมี 1 แห่ง คือ เกตเวย์เอกมัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายโครงการเกตเวย์ บางซื่อ และเกตเวย์พระราม 2 เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าบริเวณกรุงเทพฯรอบนอก ด้านโครงการเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ ในปีหน้าจะมีการพัฒนาเฟสที่ 2 เพื่อขยายพื้นที่เช่าและลานกิจกรรม และโครงการบ็อคซ์ สเปช อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่ในย่านบางนา จำนวน 30 ไร่ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 61 และโครงการศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการปรับโฉม คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 60

"การลงทุนของเรานั้นจะไม่ลงทุนตามความชอบของเรา เราจะเน้นการลงทุนที่ตอบโจทย์แต่ละไลฟ์สไตล์และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อย่างเช่น เอเชีย ทีค ก็เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว พันธุ์ทิพย์เป็นกลุ่มคนรักไอที เกตเวย์เอกมัยเป็นกลุ่มครอบครัว และเซ็นเติร์พอยท์ก็เป็นกลุ่มวัยรุ่น"นายณภัทร กล่าว

สำหรับการลงทุนในต่างจังหวัดเบื้องต้นบริษัทจะนำแบรนด์เอเชีย ทีค ไปรุกในหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ในช่วง 5 ปีนี้ โดยมองการลงทุนในพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี และหาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อขยายฐานลูกค้าที่เป็นท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก

พร้อมกับการเปิดแบรนด์ศูนย์การค้าใหม่ขายใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ โดยคอนเซ็ปต์การรวมทุกไลฟ์สไตล์เข้าด้วยกัน และจะเป็นการร่วมมือกับ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ซึ่งจะมีสาขาของบิ๊กซีไปเปิดในศูนย์การค้าแบรนด์ใหม่ด้วย ในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่เช่าของศูนย์การค้าแบรนด์ใหม่จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 ตารางเมตร นำสวนสนุกและเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ต่างๆเข้ามารวมอยู่ด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนของการลงทุนในปี 60 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบโครงการ

ขณะที่ในต่างประเทศ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาในการนำแบรนด์เอเชีย ทีค ไปตั้งศูนย์การค้าด้วยการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น หรือการเป็นที่ปรึกษา หรือการรับจ้างบริหาร เป็นต้น ซึ่งล่าสุดได้มีนักลงทุนจากประเทศเวียดนามติดต่อบริษัทเข้ามา แต่ยังไม่ได้พูดคุยในเชิงลึก ซึ่งบริษัทมีความสนใจในการขยายแบรนด์เอเชีย ทีค ไปในอาเซียนเช่นเดียวกัน รวมถึงจีน ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักลงทุนจากจีนติดต่อเข้ามา แต่ขณะนั้นบริษัทยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศคาดว่าจะเห็นได้ในช่วง 10 ปีนี้

"การพัฒนาโครงการของเราก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยตอนนี้จะเน้นในกรุงเทพนและปริมณฑลก่อน เพราะเรามีที่ดินรองรับอยู่พอสมควรแล้ว แต่บางแปลงอาจจะไม่สวยก็ต้องมีการซื้อเพิ่มบ้าง ส่วนการลงทุนในต่างจังหวัดเราก็จะนำแบรนด์เอเชีย ทีค ไปเปิดตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะหัวเมืองท่องเที่ยว รวมถึงการเปิดศูนย์การค้าแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ โดยแบรนด์ใหม่เราก็จะไปพร้อมกับบิ๊กซีด้วย

ส่วนในต่างประเทศก็คงอีกสักระยะ แต่การขยายไปในต่างประเทศก็คงใช้แบรนด์เอเชีย ทีค ไปขยาย โดยล่าสุดก็มีนักลงทุนจากเวียนามติดต่อเข้ามา แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยรายละเอียดกันมากนัก โดยการลงทุนในต่างประเทศจะเป็นแบบร่วมทุนกับ Local Partner การเป็น Consult หรือ Management ซึ่งคงจะได้เห็นใน 10 ปีนี้"นายณภัทร กล่าว

นายณภัทร กล่าวอีกว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯและปริมณฑลภายในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) มองว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาก็ยากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะการที่ศูนย์การค้าแต่ละแห่งจะอยู่ได้ต้องอาศัยความแตกต่างและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ว่าจะมีการตอบสนองต่อลูกค้ามากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนในหัวเมืองต่างจังหวัดในประเทศยังมีความน่าสนใจอยู่ เพราะมีการเติบโตจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่มีต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น

"มองว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ GDP ของไทยในระยะ 5 ปีจากนี้ จะโตราว 3% ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ดีมากนัก แต่ข้อดีคือเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างต่ำมาก ที่สำคัญขณะนี้มีหลายจังหวัดที่มีศูนย์การค้าน้อยกว่าความต้องการ ก่อนหน้านี้บริษัทเคยมีแผนจะลงทุนที่พักค้างรถและคนตามถนนทางหลวง (ไฮเวย์) ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ แต่ล่าสุดตัดสินใจล้มเลิกแผนนี้ไปแล้ว เนื่องจากไม่คุ้มค่าการลงทุน ขณะที่ 5 ศูนย์การค้าในปัจจุบันบันกับอีก 1 ศูนย์การค้าที่กำลังจะพัฒนาออกมา มีโอกาสทางธุรกิจสูงกว่ามาก"นายณภัทร กล่าว

ส่วนการจัดงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ของศูนย์การค้าในเครือในปีนี้นั้น บริษัทได้ยกเลิกไปแล้วจากเดิมที่วางแผนจัดที่โครงการเอเชีย ทีค เดอะ ริเวอร์ ฟร้อนท์ และศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ แต่เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบต่อจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการมากนัก เพราะกิจกรรมดังกล่าวจัดเพียง 1 วันเท่านั้น

ปัจจุบันโครงการต่างๆ ของบริษัทถือว่ามีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการเอเชีย ทีค เดอะ ริเวอร์ ฟร้อนท์ ที่ในปีนี้มีผู้เข้ามาใช้บริการสูงที่สุดตั้งแต่เปิดมา 5 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 35,000-40,000 คน/วัน ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 คน/วัน จากปีก่อน 8,000 คน/วัน ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำและงามวงศ์วานมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 คน/วัน จากปีก่อน 12,000 คน/วัน ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ มีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 คน/วัน จากปีก่อนที่ 25,000 คน/วัน และโครงการบ็อคซ์ สเปช รัชโยธิน มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยุ่ที่ 5,000 คน/วัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ