ผู้ว่าธปท. แนะ 5 สิ่งที่แบงก์ในอาเซียนต้องคำนึง เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของศก.ในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2016 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาเรื่อง "การเปลี่ยนผ่านบทบาทของภาคการเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภูมิภาคอาเซียน" (TRANSFORMING FINANCIAL SERVICES TO MEET THE NEEDS OF THE GROWING ASEAN ECONOMIC COMMUNITY - AEC) ในงาน 21st ASEAN Banking Conference โดยกล่าวถึง 5 เรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่จะตอบโจทย์ความท้าทายที่สังคมและเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเผชิญในอนาคต ประกอบด้วย

1. ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในเชิงรุกเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาการให้บริการ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวต่ำและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารพาณิชย์จากทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ธนาคารพาณิชย์ต้องอาศัยเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินการ การปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ ต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเท่าทัน สามารถก้าวนำไม่ใช่ก้าวตาม การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape)

อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรอบคอบระมัดระวังด้วย เพราะเทคโนโลยีอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทาง cyber เพิ่มขึ้น ภาคการธนาคารในภูมิภาคอาเซียนควรให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือเพื่อเตรียมพร้อมรับภัยจาก cyber มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีกระบวนการและเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเสี่ยงด้าน cyber ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรม

2. การสร้างภูมิคุ้มกันรับมือกับความผันผวนที่จะมากับวัฏจักรการเงิน (Financial Cycle) ในช่วงเวลาปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนการลงทุนในประเทศอุตสาหกรรมหลักอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน นักลงทุนมุ่งแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยการลงทุนในตราสารทางการเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาทำให้ราคาสินทรัพย์และสัดส่วนหนี้สินในภูมิภาคอาเซียนปรับตัวสูงขึ้น ก่อให้เกิดความเปราะบางในภาคการเงิน บทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันต้องมาจากทั้งภาครัฐผู้กำกับดูแลที่ออกกฎเกณฑ์กติกาใหม่ ๆ อย่างเท่าทัน และภาคธนาคารพาณิชย์ที่ต้องตื่นตัวและติดตามความเสี่ยง โดยใช้มุมมองระยะยาว ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์จากวัฏจักรการเงินในช่วงเวลาสั้น ๆ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้น (Search for Yield) แบบไม่รอบคอบระมัดระวัง

ที่ผ่านมา ผู้บริหารและพนักงานธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคอาเซียนมีประสบการณ์จากวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย 2540 จะตระหนักถึงผลเสียของพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรอบคอบได้เป็นอย่างดี แต่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์รุ่นใหม่ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อาจไม่คำนึงถึงมากนัก จึงจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการสร้างการตระหนักถึงความจำเป็นของการมองไกล และบริหารความเสี่ยงตลอดทั้งวัฏจักรการเงินที่มีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงให้แก่พนักงานทุกระดับ

3. การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและพฤติกรรมหลักของพนักงานให้มีธรรมาภิบาล มีเหตุผล มีความรอบคอบระมัดระวัง และให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว บทเรียนสำคัญที่เราได้รับจากวิกฤตการณ์การเงินหลายครั้งในอดีต คือ การหาประโยชน์จากความเสี่ยงอย่างเกินพอดี เพื่อมุ่งผลประโยชน์ในระยะสั้นแต่ละเลยผลกระทบในระยะยาว เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเงิน การปลูกฝังพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่เหมาะสมในทุกระดับชั้นขององค์กร ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการไปจนถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวัฒนธรรมองค์กร นอกจากจะมีบทบาทต่อกระบวนการตัดสินใจภายในองค์กร และพฤติกรรมของผู้บริหารแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้แก่องค์กรด้วย ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าธนาคารพาณิชย์วันนี้อาจจะมีผลประกอบการดี แต่ถ้ามีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เหมาะสมแล้ว ก็จะเป็นจุดเปราะบางที่สร้างปัญหาในอนาคตได้

4. การดำเนินการตามหลักของการธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เพราะการพัฒนาที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาและผลข้างเคียงหลายด้าน ตั้งแต่ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ตลอดจนความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สินและโอกาสในสังคม เรื่องการธนาคารที่ยั่งยืนเป็นเรื่องใหม่ของภูมิภาคอาเซียนที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น และจะต้องครอบคลุมหลายมิติ ตั้งแต่การนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า การปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น (Responsible Lending) ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงินให้แก่ประชาชน

5. ธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนจะต้องร่วมกันสร้างความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคให้เข้มแข็งมากขึ้น สอดคล้องและเท่าทันกับความเชื่อมโยงของการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ทั้งผู้กำกับดูแลและธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคอาเซียน จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของระบบการเงินในหลายมิติ โดยเฉพาะการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมในการให้บริการทางการเงินข้ามพรมแดนอย่างเหมาะสม การดำเนินโครงการตามข้อตกลง ASEAN Banking Integration Framework จะต้องได้รับการผลักดันร่วมกันเพื่อให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ